
ผศ.ดร.ภูวดล ธนะเกียรติไกร อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับคัดเลือกเป็นนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2562 ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 จากผลงานวิจัย “นวัตกรรมนิติพันธุศาสตร์ แก้ไขปัญหาความมั่นคง”
ผศ.ดร.ภูวดล ธนะเกียรติไกร จบการศึกษาปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และศึกษาต่อปริญญาโท-เอก ในสาขานิติวิทยาศาสตร์ จาก University of Strathclyde สก็อตแลนด์ สหราชอาณาจักร โดยได้รับทุนการศึกษาที่มอบให้นักศึกษาต่างชาติ ยกเว้นค่าเล่าเรียน

ผลงานวิจัย ของผศ.ดร.ภูวดล ธนะเกียรติไกร ประกอบด้วย ชุดน้ำยาสเปรย์เรืองแสงและอุปกรณ์ใช้สืบสวนแบบพกพาในชื่อ PSU-VisDNAkit ชุดน้ำยาเรืองแสงและอุปกรณ์ครบวงจรสำหรับเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอจากวัตถุพยานชีวภาพคิดค้นร่วมกับ ผศ.ดร.ฐิติกา กิจพิพิธน.ส.เปรมกมล ต้นครองจันทร์ ผศ.ดร.ชิตนนท์ บูรณชัย นายกิตติรัตน์ ภู่พลับ รศ.ดร.เพริศพิชญ์ คณาธารณา รศ.ดร.ปณต ถาวรังกูร พ.ต.อ.วาที อัศวุตมางกุร พ.ต.ต.หญิงสุกัญญา เพชรเพ็ง และพ.ต.อ.หญิงสุเจตนา โสตถิพันธ์ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการพิสูจน์หลักฐานเพิ่มความสะดวกรวดเร็วสำหรับการปฏิบัติภารกิจภาคสนาม ผลงานชิ้นนี้ยังได้รับรางวัล จากสภาวิจัยแห่งชาติระดับดีมาก ที่ประกาศผลในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2562
“นวัตกรรมนี้เกิดจากปัญหาจากการปฏิบัติงานของ ศูนย์พิสูจน์หลักฐานทางภาคใต้ ที่มักเกิดเหตุอาชญากรรม เหตุการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ในการลงพื้นที่เพื่อเก็บหลักฐานและดีเอ็นเอ ขั้นตอนการพิสูจน์ดีเอ็นเอของคนร้ายมีแค่ 10-20% จากตัวอย่างที่เก็บมาทั้งหมด ซึ่งดีเอ็นเอที่ได้ไม่มากพอที่จะนำไปตรวจพิสูจน์ต่อได้ เจ้าหน้าที่ต้องจินตนาการว่าคนร้ายหรือผู้ต้องสงสัย จะทิ้งร่องรอยจากการสัมผัสไว้ตรงไหนบ้างในที่เกิดเหตุนำไปสู่การตัดสินยกฟ้องในชั้นศาล เพราะหลักฐานอ่อนผู้เคราะห์ร้ายหรือเหยื่อก็จะไม่ได้รับความเป็นธรรม”
น้ำยาเรืองแสงที่พัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจระบุตำแหน่งของวัตถุพยานชีวภาพทั้งจากคราบเลือด น้ำลาย อสุจิและดีเอ็นเอที่เกิดจากการสัมผัสได้ทั้งในห้องปฏิบัติการและในที่เกิดเหตุ อาชญากรรม ในภาคสนามโดยสารดังกล่าวไม่เป็นพิษต่อผู้ใช้ ไม่รบกวนหรือสร้างความเสียหายให้ดีเอ็นเอที่นำไปใช้เป็นหลักฐานพยานในชั้นศาล
อีกทั้งตัวอุปกรณ์แหล่งกำเนิดแสงทางเลือกที่ใช้ตรวจหาดีเอ็นเอ จากเดิมต้องใช้งบประมาณ 1 ล้านบาท แต่เมื่อมีการพัฒนาผลงานวิจัยชิ้นนี้ได้สำเร็จ ก็สามารถผลิตออกมาใช้งานได้ในราคาไม่กี่พันบาท และใช้งานได้สะดวกรวดเร็วกว่าแบบเดิมที่มีขนาดใหญ่
“อุปกรณ์ตรวจสอบสารเรืองแสงที่พัฒนาขึ้น สามารถพกพาไปตรวจสอบได้ในทุกพื้นที่ มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ราคาถูก และเข้ากับน้ำยาเรืองแสงที่พัฒนาขึ้น ดังนั้น หากพบวัตถุพยานที่สงสัยว่ามีดีเอ็นเออยู่ ก็เพียงแค่ฉีดสเปรย์ลงไป และเปิดอุปกรณ์แหล่งกำเนิดแสง ก็จะพบว่าดีเอ็นเออยู่ตรงไหน และก็เก็บดีเอ็นเอตรงนั้นได้ทันที”
ผศ.ดร.ภูวดล ธนะเกียรติไกร ยังคงต่อยอดผลงาน นิติวิทยาศาสตร์ เพื่อพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล และงานด้านความมั่น ด้วยผลงาน PSU-BEK kit ชุดน้ำยาสกัดดีเอ็นเอจากกระดูก ซึ่งในกรณีเจอศพนิรนาม กระดูกจะสามารถนำมาใช้เพื่อระบุว่าใครเป็นใคร โดยตรวจสอบกับคนที่เป็นญาติกัน เพราะรูปแบบดีเอ็นเอจะคล้ายกันมาก “โจทย์วิจัยเรามาจากหน่วยนิติเวช โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ที่ต้องการจะย่นระยะเวลาในการตรวจดีเอ็นเอจากกระดูก ซึ่งวิธีมาตรฐานต้องแช่กระดูกในน้ำยาเกิน 1 วัน และได้ปริมาณดีเอ็นเอบริสุทธิ์น้อย แต่สำหรับสูตรของเรา จะแช่กระดูกเพียง 2 ชม. ก็ได้ดีเอ็นเอในปริมาณที่มากพอแล้ว จากนั้นก็นำดีเอ็นเอไปตรวจต่อตามกระบวนการ ผลงานน้ำยาเรืองแสงและอุปกรณ์แหล่งกำเนิดแสงทางเลือก และน้ำยาสกัดดีเอ็นเอจากกระดูก ได้รับการจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว”
นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ให้ข้อแนะนำว่า การเรียนวิทยาศาสตร์ให้ได้ผลดีต้องเกิดจากใจรัก ต้องรู้จักค้นคว้าด้วยตัวเอง ข้อมูลและเครื่องมือมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาคนที่ใจรัก ชอบด้านนี้จะทำได้ดี ณ ปัจจุบัน นักศึกษาที่จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ก็สามารถเป็นผู้ประกอบการได้ ไม่ต้องอยู่ในห้องปฏิบัติการเท่านั้น เช่น มีนักศึกษาที่จบไปรับตรวจดีเอ็นเอเพื่อระบุเพศของนก เช่น นกแก้วมาคอว์ ราคาคู่ละเป็นแสน เพื่อมาใช้ในการอนุรักษ์ หรือในการผสมพันธุ์นก

จากซ้าย น.ส.เปรมกมล ต้นครองจันทร์ ผศ.ดร.ภูวดล ธนะเกียรติไกร ผศ.ดร.ฐิติกา กิจพิพิธ พ.ต.อ.วาที อัศวุตมางกุร พ.ต.อ.หญิงสุเจตนา โสตถิพันธ์ ผศ.ดร.ชิตนนท์ บูรณชัย และนายกิตติรัตน์ ภู่พลับ






