
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมาเยี่ยมชมสถานีปฏิบัติการสัตวศาสตร์และสถานีวิจัยของคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นแหล่งให้ความรู้แก่นักศึกษา เกษตรกรที่สนใจการเลี้ยงโคเนื้อ และแพะเนื้อ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 เพื่อดูความพร้อมของคณะทรัพยากรธรรมชาติในการเป็นหน่วยงานร่วมสนับสนุนการผลิตโคเนื้อและแพะเนื้อ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อและแพะเนื้อเป็นอาชีพเสริมให้แก่เกษตรกรภาคใต้ซึ่งประสบกับปัญหาความผันผวนของราคายางพาราและปาล์มน้ำมัน การลดพื้นที่ปลูกยางพารา หรือการขยายระยะปลูกปาล์มน้ำมัน เพื่อปลูกหญ้าพืชอาหารสัตว์ กระถิน แค หม่อน และมันสำปะหลัง สำหรับเป็นใช้เป็นอาหารโคและแพะ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันเกษตรกร และยังสอดคล้องนโยบายของรัฐบาลที่เน้นการสร้างเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน
การตรวจเยี่ยมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ครั้งนี้ มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทวีศักดิ์ นิยมบัณฑิต คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมกับผู้บริหารของคณะ ร่วมให้การต้อนรับ สำหรับสถานที่ที่เข้าเยี่ยมชมประกอบด้วย สถานีปฏิบัติการสัตวศาสตร์นาทวี ซึ่งเป็นหน่วยผลิตโคเนื้อ เพื่อการฝึกงานนักศึกษาและผลิตรายได้ ปัจจุบันมีโคเนื้อ จำนวน 120 ตัว และสถานีวิจัยคลองหอยโข่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก ซึ่งมีภารกิจในด้านการวิจัยและพัฒนาพันธุ์แพะเพื่อจำหน่ายให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจในภาคใต้ รวมทั้งศึกษาและวิจัยแพะ และผลิตแพะให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา ปัจจุบันมีแพะจำนวน 450 ตัว เป็นแม่พันธุ์จำนวน 250 ตัว และพ่อแม่พันธุ์แพะของมูลนิธิชัยพัฒนาอีกจำนวน 56 ตัว ทั้งนี้การดำเนินการบางส่วนได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากกรมปศุสัตว์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การเดินทางมาครั้งนี้ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการใช้ความรู้ด้านวิชาการเพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับชาวภาคใต้ ในด้านการเลี้ยงปศุสัตว์ ทั้งการเลี้ยงโคขุน ลูกโค และ ผลิตแพะ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้สนับสนุนมหาวิทยาลัยในการจัดหาแหล่งน้ำบาดาล การสนับสนุนเงินกู้ให้มหาวิทยาลัยและนักวิชาการ และด้านการตลาด ส่วนนักศึกษาจะได้ทั้งความรู้เรื่องวิชาการ การทำธุรกิจ และการเรียนรู้เรื่องการดำเนินชีวิตในการเลี้ยงปศุสัตว์
สำหรับ แนวทางการดำเนินการผลิตโคเนื้อและแพะเนื้อในครั้งนี้ จะเน้นการเพิ่มจำนวนโคเนื้อและแพะเนื้อต้นน้ำเป็นหลัก ขณะที่ คณะทรัพยากรธรรมชาติ จะทำงานร่วมกับหน่วยงานของกรมปศุสัตว์และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ในการคัดเลือกเครือข่ายผู้เลี้ยงมาร่วมการผลิตโคเนื้อและแพะเนื้อต้นน้ำ กลางน้ำ และปลาย การให้ความรู้และนวัตกรรมในการผลิตอาหารโคเนื้อและแพะเนื้อ การดูแลสุขภาพขั้นปฐมภูมิ การวางระบบ GAP ฟาร์ม และร่วมกับภาคเอกชนในการจัดการตลาดต่อไป











