รายละเอียด



ม.อ. เปิด WORLD HAPEX 2024 ยกระดับการท่องเที่ยวและการบริการฮาลาลเชิงสุขภาพระดับนานาชาติ



มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย สถาบันฮาลาล เปิดงานแสดงสินค้าและการประชุมสัมมนานานาชาติด้านฮาลาล 2567 (WORLD HAPEX 2024) ภายใต้แนวคิด “ฮาลาลเพื่อการท่องเที่ยวและการบริการเชิงสุขภาพ: Halal Tourism, Hospitality and Wellness” โดยมีนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เป็นประธาน ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พร้อมด้วย ท่านโมฮาเหม็ด อับดุลลา มะห์มูด อัลกูฮิญีย์ อุปทูตบาห์เรนประจำประเทศไทย ท่านอรุณ บุญชม ฯพณฯ จุฬาราชมนตรี ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี ผศ. ดร.อัสมัน แตอาลี ผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะผู้บริหาร ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชน บุคลากร สื่อมวลชน และผู้สนใจเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567

การจัดงานแสดงสินค้าและการประชุมสัมมนานานาชาติด้านฮาลาล หรือ World HAPEX 2024 ในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 13 ภายใต้แนวคิด “ฮาลาลเพื่อการท่องเที่ยวและการบริการเชิงสุขภาพ: Halal Tourism, Hospitality and Wellness” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม 2567 - 1 กันยายน 2567 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อให้เกิดโอกาสในการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการฮาลาลเชิงสุขภาพ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนักวิจัย นักวิชาการ นำเสนอบทความวิจัยและบทความวิชาการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและบริการฮาลาลเชิงสุขภาพในระดับนานาชาติ แลกเปลี่ยนข้อมูลวิจัยและวิชาการที่สนับสนุนแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวและบริการฮาลาลเชิงสุขภาพในพื้นที่ผ่านงานวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนกระตุ้นผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและบริการฮาลาลเชิงสุขภาพ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดความตื่นตัว และสร้างโอกาสในการแข่งขันของผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ

ภายในงานมีการปาฐกถาพิเศษ โดย Abdulaziz F. Alrushodi ผู้อำนวยการศูนย์ฮาลาล องค์การอาหารและยา ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย การประชุมสัมมนานานาชาติด้านฮาลาล หัวข้อ “Halal Tourism, Hospitality and Wellness” โดยมีการนำเสนอบทความนานาชาติด้านฮาลาล จำนวน 23 บทความ จาก 10 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน โอมาน ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร มาเลเซีย อินโดนีเซีย แอลจีเรีย กัมพูชา และลาว รวมไปถึงกิจกรรมการเสวนาทางวิชาการจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงด้านฮาลาลทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ กิจกรรม Global Halal Forum ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ เรื่อง “Perspectives on the Development of World Halal Industry as well as Its Opportunities and Challenges: in the Case of Each Country” การเสวนาหัวข้อ เปิดตัวหลักสูตรการจัดการท่องเที่ยวและบริการฮาลาล (Halal tourism and Hospitality) เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับมุสลิม การเสวนาหัวข้อเรื่อง “โอกาสทองของอุตสาหกรรมอาหารไทย สู่ตลาดฮาลาลโลก” และ กิจกรรม Halal Business Matching มีคู่เจรจาธุรกิจจาก 8 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินโดนีเซีย บาห์เรน อียิปต์ ปากีสถาน และศรีลังกา โดยคาดว่าจะเกิดคู่การเจรจาทางธุรกิจประมาณ 50 คู่ มูลค่าการซื้อขาย 30,000,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการแข่งขันขับร้องอนาชีด จัดโดย สหกรณ์อิสลามอัศศิดดีก จำกัด กิจกรรมมุสลีมะห์เดย์ กิจกรรมการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) สมาพันธ์คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กิจกรรม MoU การบรรยายและเสวนาของ I-Bank และ Exim Bank ภายใต้หัวข้อการสัมมนา “มิติใหม่ โอกาสทอง ฮาลาลไทย” กิจกรรม Halal Business Matching และการแข่งขัน World HAPEX TOP CHEF 2024 รวมทั้งกิจกรรมการแข่งขันกล่าวสุนทรพจน์ การจัดนิทรรศการจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนด้านฮาลาล การแสดงสินค้าจากผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ กว่า 200 ร้านค้า ได้แก่ อาหารปรุงสด ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและเครื่องสำอาง เครื่องแต่งกายมุสลิม รวมไปถึงธุรกิจและบริการฮาลาล ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของมุสลิมในภาคใต้อีกด้วย