ม.อ. มอบรางวัลอนุสรณ์สงขลานครินทร์ ประจำปี 2567 ยกย่องผู้ทำประโยชน์แก่ชุมชนในภาคใต้
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มอบรางวัลอนุสรณ์สงขลานครินทร์ เพื่อยกย่องบุคคลและองค์กรที่ทำประโยชน์แก่ชุมชนในภาคใต้ให้เป็นตัวอย่างการดำรงชีวิต และเป็นแรงบันดาลใจในการทำประโยชน์เพื่อชุมชนให้อนุชนได้ยืดถือเป็นแบบอย่าง ซึ่งจะเข้ารับพระราชทานโล่เกียรติยศ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2565-2566 ระหว่างวันที่ 18-21 กันยายน 2567 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีผู้ได้รับรางวัลอนุสรณ์สงขลานครินทร์ ประจำปี 2567 ดังนี้
- ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ผู้ได้รับรางวัลอนุสรณ์สงขลานครินทร์ ประเภทบุคคล
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา เป็นอาจารย์ นักวิจัยเพื่อสังคม และผู้นำด้านวิชาการสาธารณสุข ที่มีบทบาทสำคัญในด้านระบาดวิทยา และมีคุณูปการอย่างยิ่งต่อภาคใต้ โดยได้นำความรู้ความสามารถมาใช้แก้ไขปัญหาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ในด้านต่าง ๆ ให้คลี่คลาย ทั้งในด้านการแก้ไขปัญหาโรคที่เกิดจากความยากจน ได้แก่ การเสียชีวิตปริกำเนิด โรคบาดทะยักเด็กแรกคลอด โรคท้องร่วง โรคปอดบวม โรคพยาธิปากขอ โรคขาดอาหาร และพิษจากสารตะกั่ว โดยได้ขับเคลื่อนให้เกิดโครงการพิเศษต่าง ๆ ในพื้นที่และทำให้โรคบางชนิด เช่น โรคบาดทะยักเด็กแรกคลอด และโรคพยาธิปากขอได้รับการแก้ไขจนไม่เป็นปัญหาหลักของพื้นที่ เป็นผู้นำในการระดมพลังทางวิชาการและการสร้างผู้นำทางวิชาการในพื้นที่ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการร่วมสร้างความเข้มแข็งให้แก่หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อพัฒนาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงและสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น ทั้งยังได้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อสร้างสันติภาพชายแดนใต้ระยะยาว ที่ส่งต่อความต้องการการช่วยเหลือของผู้ได้รับผลกระทบในจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจและการวางนโยบายที่ถูกต้อง และได้บุกเบิกและสร้างความสัมพันธ์อันดีร่วมกันระหว่างจังหวัดชายแดนใต้กับจังหวัดอาเจะห์ของประเทศอินโดนีเซีย โดยการริเริ่มจัดทำหลักสูตรบัณฑิตอาสา
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ได้สร้างและพัฒนาหลักสูตรระบาดวิทยาเป็นหลักสูตรนานาชาติ ระดับปริญญาเอกหลักสูตรแรกของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพจำนวนมาก จนได้รับการยอมรับในวงการสาธารณสุขทั่วโลก และได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ ตลอดจนเป็นผู้นำด้านวิชาการสาธารณสุขในระดับชาติและระดับนานาชาติ โดยทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลก และธนาคารโลกในการแก้ไขปัญหาโรคจากความยากจนในประเทศต่าง ๆ ของทวีปเอเชีย และในช่วงของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นผู้นำวิชาการด้านระบาดวิทยาเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน ทำให้ประชาชนเตรียมพร้อมในการรับมือและเข้าใจธรรมชาติวิทยาของโรคระบาดที่ร้ายแรง รวมถึงได้ให้คำปรึกษาแก่กระทรวงสาธารณสุขในการพยากรณ์การเปลี่ยนของโรคระบาด และเป็นผู้นำนักวิจัยในการประเมินความปลอดภัยและประสิทธิผลของวัคซีนชนิดต่าง ๆ ในการลดอัตราป่วยหนักและอัตราตายในประเทศไทย
- นายปิยะ เทศแย้ม ผู้ได้รับรางวัลอนุสรณ์สงขลานครินทร์ ประเภทบุคคล
นายปิยะ เทศแย้ม เป็นชาวประมงพื้นบ้าน บ้านทุ่งน้อย อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกสมาคมประมงพื้นบ้านบ้านทุ่งน้อย จากการที่เกิดและเติบโตมากับอาชีพชาวประมง จึงมีความมุ่งมั่นตั้งใจและมีอุดมการณ์อันแน่วแน่ในการปกป้องทรัพยากรทางทะเล เพื่อเป็นแหล่งอาชีพให้ชาวประมงทุกคนได้ใช้อย่างรู้คุณค่าและยั่งยืน โดยมีแนวคิดว่า ระบบทะเลต้องจับไปด้วย ฟื้นฟูไปด้วย ตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมา ได้อุทิศทั้งเวลาและเสียสละทรัพย์สินส่วนตัวเพื่อการอนุรักษ์และเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในด้านทรัพยากรทางทะเลอย่างไม่ย่อท้อ และไม่นิ่งเฉยเมื่อต้องพบเจอกับปัญหาอุปสรรคที่เกิดจากความไม่เป็นธรรม จึงทำให้ต้องเสี่ยงชีวิตหลายครั้งเพื่อปกป้องทะเลไทย โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวต่อต้านการใช้อวนลากและเครื่องมือคราดหอย ซึ่งเป็นการทำประมงที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมทางทะเล ซึ่งหนึ่งในความสำเร็จที่สำคัญคือการสามารถผลักดันให้รัฐบาลขยายเขตห้ามใช้เครื่องมือคราดหอยจาก 1.6 เป็น 3 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งที่ได้กำหนดไว้ในมาตรหนึ่งของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมผลักดันและรณรงค์เรื่องการใช้กฎหมายที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับการประมงมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนและเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านที่มีรายได้น้อยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และยังมีส่วนร่วมสำคัญอย่างยิ่งในการเข้าร่วมเครือข่ายประมงพื้นบ้าน เพื่อผลักดันและร่วมแก้ปัญหาการปลดใบเหลือง IUU Fishing หรือการทำประมงผิดกฎหมายและไร้การควบคุมที่สหภาพยุโรปได้ให้กับประเทศไทย ทำให้ได้รับเกียรติบัตรและเข็มเกียรติคุณจากนายกรัฐมนตรีในการเป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยสามารถปลดใบเหลือง IUU Fishing ได้สำเร็จ ตลอดจนได้รับความไว้วางใจจากภาครัฐให้ร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญ คณะทำงาน คณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ ในการร่วมแก้ไขปัญหากับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความยั่งยืนของประมงพื้นบ้าน จึงนับเป็นผู้ที่มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อการประมงไทย
ขอบคุณภาพกราฟฟิก : PSUConnext
ศุนย์กิจการนานาชาติและสื่อสารองค์กร