ปริญญากิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปี 2566
สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติปริญญากิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2565-2566 ในระหว่างวันที่ 18-21 กันยายน 2567 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี จะเสด็จแทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2565-2566 โดยมีรายนามผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ ประจำปี 2566 ดังนี้
1. คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (การบริหารการศึกษา)
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เป็นผู้มีความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้ในศาสตร์การบริหารการศึกษาและการบริหารงาน จนประสบความสำเร็จได้อย่างโดดเด่น เป็นที่ยอมรับทั้งในวงการศึกษาและสังคม โดยเฉพาะผลงานเชิงประจักษ์ด้านการศึกษาในพื้นที่ภาคใต้ อาทิ จัดตั้งหน่วยงานใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยตั้งสำนักผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการที่ 12 ยะลา พร้อมทั้งปรับบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าวเป็น กระทรวงศึกษาธิการส่วนหน้า เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษา และมหาวิทยาลัยทุกสังกัด การจัดตั้งสำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อบริหารจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคได้เป็นการเฉพาะ เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ รวมถึงการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ และกำหนดเป็นแผนงาน/โครงการ ในการสนับสนุนงบประมาณเพื่อส่งเสริม การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์และอัตลักษณ์ของพื้นที่
2. ดร.จรัลธาดา กรรณสูต ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (การจัดการทรัพยากรเกษตรเขตร้อน)
ดร.จรัลธาดา กรรณสูต มีความรู้ความสามารถพิเศษโดยเฉพาะด้านการประมง รวมทั้งประสบการณ์ด้านการจัดการทรัพยากรการเกษตร ได้สร้างผลงานเชิงประจักษ์ที่เห็นผลในเชิงสร้างสรรค์ ต่อเกษตรกรและประเทศชาติ โดยมีผลงานที่สําคัญ เช่น โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดําริ จังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส การรณรงค์สร้างเครื่องหมายรับรองคุณภาพสัตว์น้ำ (Q-Mark) การจัดการระบบเลี้ยงกุ้งแบบ CoC การจัดสร้างระบบการเพาะเลี้ยง/ขนส่งสัตว์น้ำที่ดี (GAP Good Aquaculture Practice/MD Movement Document) การจัดทำระบบสุขอนามัยท่าเทียบเรือ รวมทั้งส่งเสริมนโยบายการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการประมงทะเล การเปิดตลาดสินค้าใหม่ การนำสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ไปนำเสนอในต่างประเทศเพื่อแสวงหาความร่วมมือด้านการประมง ทั้งด้านการค้าและวิชาการ เป็นต้น
3. นายภูรี เจริญพงศ์ บัญชีดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
นายภูรี เจริญพงศ์ ปัจจุบันดํารงตําแหน่งที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ด้านยุทธศาสตร์ แผนและการดําเนินงานด้านต่าง ๆ เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และเชี่ยวชาญในด้านการบัญชี และการบริหารจัดการ เป็นบุคคลสําคัญที่อุทิศตนเพื่อสังคม สร้างชื่อเสียงและมีคุณูปการต่อมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยเป็นผู้วางระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) หรือระบบการบริหารทรัพยากรองค์กรของมหาวิทยาลัยโดยรวม เป็นระบบที่เชื่อมโยงระบบงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเข้าด้วยกันเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด ปัจจุบัน ERP มีการพัฒนาไปสู่รูปแบบโปรแกรมสําเร็จรูป ERP หรือ PSU MAS ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ประยุกต์มาตรฐาน สามารถติดตั้งและใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย ERP Software ที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นมีหน้าที่รวบรวมส่วนประกอบทางธุรกิจต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย
4. ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (เคมี)
ศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น มีความเชี่ยวชาญงานวิจัยด้านเอนไซม์เพื่อการประยุกต์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพและความยั่งยืนตลอด 26 ปี ได้นำความรู้ด้านเคมี จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาต่อยอดในการศึกษาต่อระดับปริญญาเอก จนถึงในงานวิจัยที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นงานวิจัยแบบสหสาขา (Multi-Disciplinary) ด้านการพัฒนางานวิจัยเชิงลึกเรื่องกลไกการทำงานของเอนไซม์ กระบวนการทำวิศวกรรมเอนไซม์ ชีววิทยาสังเคราะห์ และกระบวนการพัฒนาการตรวจวัด เป็นการวิจัยที่สนับสนุนการทำงานด้านเคมีสีเขียว (Green Chemistry) ความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการใช้เอนไซม์ซึ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาชีวภาพที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาประยุกต์ใช้งานด้านต่าง ๆ เช่น ใช้เอนไซม์ย่อยสลายและเปลี่ยนสารพิษตกค้างในกระบวนการอุตสาหกรรมการเกษตรให้เป็นสารที่มีมูลค่า จนก่อให้เกิดงานวิจัย LUMOS-ลูมอส เทคโนโลยีตรวจวัดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชแบบแม่นยำ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้บริโภค ปัจจุบันได้ทำงานร่วมกับชุมชนที่จังหวัดน่านและอีกหลายจังหวัด เพื่อนำไปสู่การเกิดชุมชนเกษตรกรรมที่เข้มแข็ง และช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้บริโภคดีขึ้น จากการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและปลอดภัยอีกด้วย
5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงมยุรี วศินานุกร แพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงมยุรี วศินานุกร ทํางานด้านการเรียนการสอนชั้นคลินิกในสาขาวิชาวิสัญญีวิทยา มีความมุ่งมั่นในการพัฒนางานวิชาการให้ทันสมัย โดยจัดระบบการเรียนการสอนให้นักศึกษาได้รับความรู้ โดยเฉพาะการสอนแบบผสมผสานกับนักศึกษาระดับ Pre-clinic เป็นผู้บุกเบิกในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้ทันสมัย โดยนําการเรียนการสอนแบบการใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-Based Learning - PBL) มาใช้กับนักศึกษาแพทย์ระดับ Pre-clinic ในคณะแพทยศาสตร์ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2532 และตั้งแต่ปีการศึกษา 2542 เป็นต้นมา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เป็นคณะแพทยศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย ที่นําระบบการเรียนการสอนแบบการใช้ปัญหาเป็นฐาน มาใช้ตลอดหลักสูตรทั้งในระดับ Pre-clinic และระดับ Clinic นอกจากนี้ ยังนําการประเมินผลแบบ Objective Structured Clinical Examination (OSCE) มาใช้สอบกับนักศึกษาแพทย์ตั้งแต่ปีการศึกษา 2531 จนถึงปัจจุบัน
6. ศาสตราจารย์ ทันตแพทย์หญิงสมรตรี วิถีพร ทันตแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
ศาสตราจารย์ ทพญ.สมรตรี วิถีพร ได้ทุ่มเทอุทิศตนด้านวิชาความรู้ให้กับคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมีผลงานดีเด่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์อย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการเรียนการสอน ได้เป็นอาจารย์พิเศษให้กับหลักสูตรหลังปริญญา สาขาทันตกรรมจัดฟัน มาตั้งแต่คณะทันตแพทยศาสตร์เริ่มการเรียนการสอนหลักสูตรหลังปริญญา สาขาทันตกรรมจัดฟัน เมื่อปี 2544 อีกทั้งเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญสูงด้านงานวิจัย สามารถให้คําปรึกษาด้านระเบียบวิธีวิจัยและเทคนิคการวิจัยกับสาขาทันตกรรมจัดฟัน ให้แก่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นอย่างดีเสมอมา และด้านหลักสูตร เป็นที่ปรึกษาการจัดการหลักสูตรและนวัตกรรมหลักสูตรใหม่ ๆ ให้กับอนุสาขาวิชาทันตกรรมจัดฟัน คณะทันตแพทยศาสตร์ อีกด้วย
7. นางสาวสารี อ๋องสมหวัง นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง มีความสนใจในงานการพัฒนาสุขภาพ ได้เข้าทำงานในคณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนเพื่อสาธารณสุขมูลฐาน ซึ่งมีบทบาทในการขับเคลื่อนการพัฒนาสุขภาพพื้นฐานของคนไทยด้วยความตั้งใจที่จะส่งเสริมให้คนไทยเข้าใจในสิทธิของผู้บริโภค เช่น การเพิกถอนทะเบียนยาที่ไม่เหมาะสมเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงยาที่ปลอดภัย การจัดทำนิตยสารฉลาดซื้อเพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่การตัดสินใจของผู้บริโภค ด้วยความเชื่อที่ว่าพลังของผู้บริโภคเป็นพลังที่สำคัญ และการส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้มแข็งและมีอำนาจต่อรองจะช่วยให้การคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคประสบผลสำเร็จและไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ในการทำงานเพื่อผู้บริโภคชาวไทยมาตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ได้มีการทำงานต่อเนื่องในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของผู้บริโภค ทั้งในองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ ดำรงตำแหน่งกรรมการเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตำแหน่งประธานกรรมาธิการการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ รวมถึงเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสภาผู้บริโภคอาเซียนร่วมกับองค์กรผู้บริโภคใน 7 ประเทศ
8. ศาสตราจารย์เอสเปน บีเจอร์ทเนส (Professor Espen Bjertness) ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (ระบาดวิทยา)
ศาสตราจารย์เอสเปน บีเจอร์ทเนส เป็นนักวิชาการสาขาระบาดวิทยาซึ่งได้สร้างคุณูปการด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะด้านการส่งเสริมสุขภาพต่อประชากรทั่วโลก ได้ทำงานวิจัยทางระบาดวิทยามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลงานทางวิชาการที่ครอบคลุมปัญหาสาธารณสุขที่หลากหลาย เช่น โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ ซึ่งได้ศึกษาวิจัยเจาะลึกไปถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมกับสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการเกิดโรคนี้ ที่สำคัญคือ เป็นผู้จัดทำโครงการเสริมสร้างศักยภาพในด้านการวิจัยและการศึกษาระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยในประเทศที่มีรายได้น้อยและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในระยะเวลา 30 ปี ที่ผ่านมา
ขอบคุณภาพกราฟฟิก : PSUConnext
ศุนย์กิจการนานาชาติและสื่อสารองค์กร