รายละเอียดข่าว


มหาวิทยาลัยสงขลาครินทร์ มอบรางวัลอาจารย์ตัวอย่างดีเด่น และอาจารย์ดีเด่น กองทุนเอกิ้น เลาเกเซ่นอนุสรณ์ประจำปี 2565




           มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้คัดเลือกอาจารย์ตัวอย่างดีเด่น อาจารย์ตัวอย่างรุ่นใหม่ดีเด่น เป็นประจำทุกปี เพื่อประกาศเกียรติคุณอาจารย์ตัวอย่างดีเด่นของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีความรู้ ความสามารถ อุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่มหาวิทยาลัยและประพฤติตนดีงามเป็นที่ประจักษ์อย่างต่อเนื่อง โดยอาจารย์ตัวอย่างดีเด่น จะเข้ารับพระราชทานโล่เกียรติยศ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2566 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีผู้ได้รับการประกาศเกียรติคุณ อาจารย์ตัวอย่างดีเด่น และอาจารย์ตัวอย่างรุ่นใหม่ดีเด่น อาจารย์ดีเด่น กองทุนเอกิ้น เลาเกเซ่นอนุสรณ์ ประจำปี 2565 ดังนี้

    อาจารย์ดีเด่นกองทุนเอกิ้น เลาเกเซ่นอนุสรณ์ ประจำปี 2565 
    ศาสตราจารย์ นายแพทย์วรวิทย์ เลาห์เรณู คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

        ศ. นพ.วรวิทย์ เลาห์เรณู เป็นผู้บุกเบิกการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคข้อในด้านที่เกี่ยวกับอาการทางด้านคลินิกและการรักษาต่างๆ มีผลงานตีพิมพ์ในระดับชาติและนานาชาติต่อเนื่อง ทั้งยังได้รับเชิญไปบรรยายและเสนอผลงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอ จากผลงานทางด้านวิชาการและความเชี่ยวชาญทางโรคข้อซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการ จึงได้รับคัดเลือกเป็นนายกสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย ถึง 2 สมัย ทำหน้าที่ร่วมกับสมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย ดำเนินกิจกรรมให้ความรู้เรื่องโรคข้อสำหรับประชาชน และร่วมจัดตั้งกลุ่มผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โดยนำมาซึ่งความเข้าใจเกี่ยวกับโรครูมาติสซั่มในคนไทยมาใช้ปฏิบัติในการให้การดูแลรักษาผู้ป่วยให้ดีขึ้น

    อาจารย์ตัวอย่างดีเด่นของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปี 2565
    ด้านการเรียนการสอน

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พญ.ศรีลา สำเภา คณะแพทยศาสตร์

        ผศ. พญ.ศรีลา สำเภา มีความเชี่ยวชาญทางศัลยศาสตร์ มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาวิชาที่สอนทั้งในระดับก่อนและหลังปริญญาอย่างดีเยี่ยม สามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการสอนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยจะเห็นได้จากการปรับรูปแบบการเรียนการสอนเป็นลักษณะ flipped classroom เกิดการบูรณาการและการเรียนรู้ที่แท้จริง ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้แบบ lifelong learning และ continuous professional development จนเป็นที่ยอมรับและนำไปปรับใช้ในสาขาวิชาระดับก่อนปริญญาในปัจจุบัน หนึ่งในตัวอย่างของ Role model อาจารย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และยังเป็นผู้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่เพื่อนร่วมวิชาชีพ รวมถึงรุ่นน้องและลูกศิษย์ ดังจะเห็นได้จากรางวัลและประกาศเกียรติคุณด้านการเรียนการสอนมากมาย

     

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ตรีชาติ เลาแก้วหนู คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

       ผศ. ตรีชาติ เลาแก้วหนู เป็นอาจารย์ตัวอย่างในการจัดการเรียนการสอน โดยการนำเอาเทคนิคการสอนเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ทั้งการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning การศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน การเรียนรู้แบบมีชุมชนเป็นฐาน รวมทั้งการจัดการศึกษาบูรณาการระหว่างสหวิทยาการ ยังเป็นผู้ที่ทุ่มเทในการทำงานเพื่อให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับทั้งในวงการวิชาการ วงการวิชาชีพ และสังคมในวงกว้าง เป็นผู้ผ่านการประเมินกรอบมาตรฐานวิชาชีพการจัดการเรียนการสอนของประเทศอังกฤษ ในระดับที่ 3 และการประเมินสมรรถนะตามกรอบมาตรฐานสมรรถนะอาจารย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในระดับที่ 3 รวมทั้งได้รับรางวัลอาจารย์ต้นแบบด้านการสอน จากสมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (สมาคม ควอท.)

    ด้านการวิจัยและนวัตกรรม

    สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ 
    รองศาสตราจารย์ ดร.สันทัด วิเชียรโชติ คณะอุตสาหกรรมเกษตร
            รศ. ดร.สันทัด วิเชียรโชติ มีความมุ่งมั่นในการทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง มีงานวิจัยที่ได้รับทุนทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย รวมทั้งจากต่างประเทศมากกว่า 38 เรื่อง และมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติที่มีคุณภาพมากกว่า 55 เรื่อง ซึ่งได้รับการอ้างอิงอย่างต่อเนื่อง เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และมีความเชี่ยวชาญการวิจัยทางด้าน Prebiotics, Functional foods, Gut health มีห้องปฏิบัติการเฉพาะทางระบบจำลองลำไส้ใหญ่มนุษย์ (Colon model) ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากภาคเอกชนมากกว่า 8 บริษัท โดยผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติในฐานข้อมูล Web of Science และ SCOPUS มีผลงานที่ได้รับการจดอนุสิทธิบัตร และได้รับเชิญให้เป็น Keynote speaker, Invited speaker ในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติทั้งในและต่างประเทศ

    สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลดา เพ็ชรวรุณ คณะการบริการและการท่องเที่ยว
      ผศ. ดร.กุลดา เพ็ชรวรุณ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการจัดการการท่องเที่ยวผ่านกระบวนการวิจัย ได้รับทุนวิจัยอย่างต่อเนื่อง มีผลงานวิจัยหลายเรื่องได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำระดับนานาชาติร่วมกับนักวิจัยระดับโลกในสาขาการจัดการการท่องเที่ยว และได้รับการอ้างอิงงานวิจัยในระดับนานาชาติอย่างกว้างขวาง นอกจากผลงานวิจัยและงานตีพิมพ์ดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวแล้วยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาชุมชนและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของพื้นที่กลุ่มจังหวัดอันดามันและของประเทศ
     
    ด้านบริการวิชาการ

    รองศาสตราจารย์ ดร.ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์ คณะเภสัชศาสตร์

             รศ. ดร.ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์ เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถด้านบริการวิชาการด้านการพัฒนายาจากสมุนไพรไทยที่ถูกต้อง และเป็นประโยชน์แก่สังคม มีงานวิจัยและนวัตกรรมด้านสมุนไพรที่ช่วยแก้ไขปัญหาทั้งในภาคธุรกิจ โรงงาน รวมถึงภาคประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยผลงานที่โดดเด่นคือการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตยาใช้ภายนอกจากสารสกัดทองพันชั่งและเปลือกมังคุด ให้กับโรงพยาบาลที่มีการผลิตยาสมุนไพรทั่วประเทศ โรงงานผลิตยา และโรงเรียน เป็นผู้นำด้านการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาในยุคที่ประเทศต้องการพัฒนาองค์ความรู้ด้านสมุนไพร เป็นบุคคลสำคัญต่อการพัฒนาองค์ความรู้ด้านสมุนไพรให้เข้ากับบริบทของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ช่วยผลักดันให้โรงพยาบาล และโรงงานอุตสาหกรรมนำเอานวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสมุนไพรไทย และช่วยขับเคลื่อนองค์ความรู้สู่ชุมชน ซึ่งเป็นผลให้ภาคประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของสมุนไพร

    ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

     

     

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทิพมาส ชิณวงศ์ คณะพยาบาลศาสตร์

        ผศ. ดร.ทิพมาส ชิณวงศ์ มีความสนใจร่วมเรียนรู้และพัฒนาองค์ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพองค์รวม การดูแลแบบผสมผสานและภูมิปัญญาตะวันออก ได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่ประเทศออสเตรเลีย ได้ทำดุษฎีนิพนธ์ เรื่อง The Influences of Thai Buddhist Culture on Cultivating Compassionate Relationships with Equanimity between Nurses, Patients and Relatives: A Grounded Theory Approach และได้พัฒนาตนเองด้านสมาธิบำบัดเอสเคที เป็นที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำให้กับอาจารย์ใหม่ เป็นแบบอย่างที่ดีในการคำนึงถึงประโยชน์เพื่อนมนุษย์ ได้บูรณาการศิลปวัฒนธรรมในการเรียนการสอน การวิจัย และบริการวิชาการอย่างต่อเนื่อง อุทิศเวลาในการส่งเสริมสนับสนุนงานด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การสอนสมาธิและสมาธิบำบัดเอสเคที และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนคณะพยาบาลศาสตร์

    ด้านกิจการนักศึกษา

    อาจารย์ณฐ ย่าหลี คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ

       อ.ณฐ ย่าหลี ให้ความสำคัญกับความเป็นคนรุ่นใหม่ของนักศึกษา บูรณาการกิจกรรมนักศึกษากับกิจกรรมวิชาการที่ทันยุคสมัยเพื่อพัฒนานักศึกษาให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการ Academic excellence เป็นทั้งที่ปรึกษาและผู้ผลักดันให้เกิดกิจกรรมพัฒนานักศึกษา ทั้งในระดับมหาวิทยาลัย ชมชุน ภูมิภาค ระดับชาติ และนานาชาติ รวมทั้งยังมุ่งส่งเสริมให้นักศึกษาเรียนรู้ทักษะชีวิต ร่วมคิดช่วยเหลือชุมชน สร้างค่านิยมอุดมศึกษาในการรับใช้สังคม ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ชุมชนและนักศึกษา ทั้งในระดับหลักสูตร คณะ มหาวิทยาลัย ชุมชนและสังคม ได้รับทุนสนับสนุนในการทำกิจกรรมเพื่อพัฒนานักศึกษาอย่างสม่ำเสมอ จนได้รับรางวัลจากการปฏิบัติหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษาด้านกิจกรรมนักศึกษาในระดับชาติจาก SIFE THAILAND (Students in Free Enterprise) ภายใต้มูลนิธิรากแก้วและมูลนิธิปิดทองหลังพระ

    อาจารย์ตัวอย่างรุ่นใหม่ดีเด่นของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปี 2565

    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นาบิล หะยีมะแซ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

        ผศ. ดร.นาบิล หะยีมะแซ เน้นการสอนแบบ Active learning และ Case based learning โดยกระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา และปฏิบัติในสถานการณ์จริง มีความเป็นผู้นำด้านการวิจัย มีศักยภาพในการขอทุนวิจัยและผลิตผลงานเชิงวิชาการอย่างต่อเนื่อง มีผลงานตีพิมพ์ระดับชาติและนานาชาติมากกว่า 40 เรื่อง โดยผลงานต่างๆ ได้รับการยอมรับ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้าง สามารถนำองค์ความรู้ใหม่มาประยุกต์ใช้ได้จริง ทำให้ได้รับรางวัลนักวิจัยที่มีจํานวนผลงานตีพิมพ์สูงสุด 20 อันดับแรกจากฐานข้อมูล Web of Science และยังเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน (วมว.)

    รองศาสตราจารย์ ดร.ยุโสบ บุญสุข คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

           รศ. ดร.ยุโสบ บุญสุข จัดการเรียนการสอนโดยเน้นการเรียนการสอนแบบเชิงรุก (Active Learning) ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอน และเป็นผู้มีส่วนผลักดันให้นักศึกษาผลิตผลงานวิจัยและเข้าสู่เวทีการนำเสนอทั้งในระดับชาติและนานาชาติ รวมถึงมุ่งเน้นให้นักศึกษาผลิตผลงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง มีผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารและหนังสือรวมบทความภายใต้สำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ได้รับรางวัลนักวิจัยที่มีจำนวนผลงานตีพิมพ์สูงสุด 20 อันดับแรก ผลงานตีพิมพ์ได้รับการอ้างอิง (Citation) สูงสุด 20 อันดับแรก เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ PSU Open Mobility มีนักศึกษา อาจารย์ และนักวิชาการให้ความสนใจในการเข้าร่วมโครงการมากกว่า 8,000 คน จาก 60 กว่าประเทศทั่วโลก ยังเป็น Reviewers ให้กับวารสารที่มีชื่อเสียงระดับโลก และยังได้รับการเชิญจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศให้เป็นวิทยากรเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการฐานนานาชาติอย่างต่อเนื่อง

     

    ขอบคุณ ศูนย์กิจการนานาชาติและสื่อสารองค์กร