ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.อ. จับมือ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ วิจัยและพัฒนาการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี




    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ลงนามบันทึกความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาการกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี โดยมี ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ร่วมลงนาม รศ. นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นางเพ็ญนภา กัญชนะรองเลขาธิการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ร่วมลงนามเป็นพยาน พร้อมด้วย ผู้บริหาร และบุคลากรทั้งสองหน่วยงานเข้าร่วม ณ ห้องประชุม 215 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 65



การลงนามดังกล่าวเพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนาด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยจากการดำเนินกิจกรรมด้านนิวเคลียร์และรังสีให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล เกิดความปลอดภัยต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อม โดยร่วมกันดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคนิคการตรวจวัดและการวิเคราะห์กัมมันตภาพรังสีในสิ่งแวดล้อม การใช้ข้อมูลจากสถานีเฝ้าตรวจภายใต้สนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (The Comprehensive Nuclear-Test–Ban Treaty, CTBT) เพื่อการศึกษาวิจัย การตรวจวิเคราะห์กัมมันตภาพรังสีเพื่อความปลอดภัยทางรังสีในสินค้าอุปโภค (Consumer Product) การตรวจวิเคราะห์วัสดุกัมมันตรังสีตามธรรมชาติ (Naturally Occurring Radioactive Material, NORM) การตรวจวิเคราะห์ก๊าซกัมมันตรังสีเรดอน-222 (Rn-222) การสำรวจอัตราปริมาณรังสีและการระบุไอโซโทปกัมมันตรังสีด้วยระบบคอมพิวเตอร์ประเมินรังสีตามเส้นทางขั้นสูง (Spectral Advance Radiological Computer System, SPARCS) 



    นอกจากนี้ ยังร่วมกันจัดตั้งห้องปฏิบัติการประจำภาคเพื่อการกำกับดูแลความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม การเตรียมความพร้อมและระงับเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี และตอบโต้เหตุความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี การทดสอบและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี (Radiation Safety Officer, RSO) พัฒนาระบบเครือข่ายห้องปฏิบัติการ บุคลากร และเทคนิคการตรวจวัดและวิเคราะห์ทางรังสี ด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ แลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการ ความรู้ และถ่ายทอดเทคนิคและเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดจนบูรณาการงานวิจัยอันเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม และพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพ