ข่าวชาวสงขลานครินทร์

รายวิชา Management Innovation บน PSU-MOOC ได้รับทุน ASEAN Cyber University Project พัฒนาการเรียนรู้ออนไลน์ระดับนานาชาติ




    รายวิชา Management Innovation บน PSU-MOOC ได้รับคัดเลือกให้ได้รับทุน ASEAN Cyber University Project จำนวน 8,100 USD เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ออนไลน์ระดับนานาชาติ ปัจจุบันมีผู้เรียนเกือบ 1,400 คน คาดว่าจะเปิดให้ผู้สนใจเข้าเรียนในเวทีนานาชาติประมาณต้นปี 2566

    MOOCs (Massive Open Online Courses) เป็นแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ที่ทั่วโลกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล โดยประเทศไทยมีการพัฒนา MOOC ประมาณปี 2555 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นมหาวิทยาลัยลำดับต้นๆ ที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Thai-MOOC

    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ภายใต้แพลตฟอร์ม PSU-MOOC ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 ภายใต้ความรับผิดชอบหลักโดยสำนักการศึกษาและนวัตกรรมการเรียนรู้ (Education and Innovative Learning Academy: EILA) จนถึงปัจจุบันมีรายวิชาที่เปิดสอนออนไลน์แล้วเกือบ 200 รายวิชา มาจากหลากหลายศาสตร์ ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ บางรายวิชาก็ยกระดับการพัฒนาไปสู่ระดับนานาชาติบนแพลตฟอร์มที่ทั่วโลกรู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะรายวิชาทางด้านภาษา และเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มีผู้เรียนสนใจมากเป็นพิเศษ ปัจจุบันมีจำนวนผู้เรียนกว่า 170,000 คน ได้รับวุฒิบัตรเกือบ 50,000 คน

    สำหรับรายวิชาที่มีความโดดเด่นในแต่ละศาสตร์ คณะกรรมการจะคัดเลือกให้จัดทำ proposal เพื่อส่งเข้ารับการพิจารณาทุนจากต่างประเทศ อาทิ ทุนจากประเทศเกาหลีใต้ (KERIS) ภายใต้ ACU Project โดยแต่ละปีจะมีรายวิชาที่เสนอเข้ารับการพิจารณาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งที่ผ่านมา รายวิชาบน PSU-MOOC ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ผ่านการคัดเลือกให้ได้รับทุนนี้ จำนวน 3 รายวิชา ได้แก่ 1) Creative and Modern Presentation Design ทุนปี 2563 สอนโดย ผศ. ดร.โอภาส เกาไศยาภรณ์ และคุณนิสรีน พรหมปลัด 2) Coexistance in Multicultural Society ทุนปี 2564 สอนโดย ผศ. ดร.โอภาส เกาไศยาภรณ์ และล่าสุด รายวิชา นวัตกรรมการจัดการ (Management Innovation) สอนโดย ผศ. ดร.ประทุมทิพย์ ทองเจริญ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ทุนปี 2565



    ผศ. ดร.ประทุมทิพย์ ทองเจริญ กล่าวว่า รายวิชานวัตกรรมการจัดการ  ได้รับทุนปี 2562 ปัจจุบันมีผู้เรียนเกือบ 1,400 คน มีผู้ได้รับวุฒิบัตรแล้วกว่า 700 คน มีจำนวนผู้เรียนอยู่ในลำดับที่ 29 จากประมาณ 200 รายวิชา (ข้อมูล ณ วันที่ 12 ต.ค.2565) มีเนื้อหาแบ่งออกเป็น 5 บท ได้แก่ 1) บทนำ 2) นโยบายและแผนนวัตกรรมแห่งชาติ 3) หลักสูตรนวัตกรรมการจัดการที่เปิดสอนในประเทศและต่างประเทศ 4) กฎหมายที่เกี่ยวข้อง 5) นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ รวมทั้งสิ้น 31 วีดิทัศน์ นอกจากนี้ รายวิชาดังกล่าวยังผ่านการคัดเลือกจาก KERIS ประเทศเกาหลีใต้ ให้ได้รับการสนับสนุนทุนจาก ASEAN Cyber University Project จำนวน 8,100 USD เพื่อพัฒนารายวิชาดังกล่าวระดับนานาชาติต่อไป คาดว่าจะสามารถเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าไปเรียนรายวิชานี้ในเวทีนานาชาติประมาณปี 2566




    "ทั้งหมดนี้ คือ พัฒนาการของการขับเคลื่อนการผลิตและจัดทำสื่อการเรียนการสอนออนไลน์เพื่อประโยชน์ของผู้เรียนในโลกของการศึกษาแบบไร้พรมแดน ซึ่งสามารถเรียนรู้และเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนได้ทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา เพื่อรองรับการเติบโตทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในศตวรรษที่ 21 นอกจากจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาแล้วยังส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมโลกอย่างยั่งยืนตามหลักการ SDGs (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติอีกด้วย"