ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ ม.อ. เตรียมรับมือน้ำท่วมช่วงหน้าฝน พร้อมจัดเสวนา “หาดใหญ่เข้มแข็ง สู้ภัยน้ำท่วม ครั้งที่ 13” 12 ต.ค. นี้




    จากเหตุการณ์น้ำท่วมหาดใหญ่เมื่อปี 2553 ที่ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายอย่างหนักทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในหลายพื้นที่ เนื่องจากระบบการเตือนภัยและการรวบรวมข้อมูลยังไม่ได้ประสิทธิภาพ จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อเป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือ รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเป็นประโยชน์ในการเตือนภัยน้ำท่วมของเมืองหาดใหญ่



    รศ. ดร.ธนิต เฉลิมยานนท์ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก่อตั้งมาแล้ว 12 ปี มีภารกิจหลักเพื่อเป็นศูนย์วิจัยและรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิเกี่ยวกับภัยพิบัติ น้ำท่วม ดินถล่ม และภัยพิบัติอื่นๆ เช่น การกัดเซาะตลิ่ง รวมถึง Climate Change ของภาคใต้ในระยะยาวและต่อเนื่อง รวมถึงการจัดการภัยพิบัติ โดยทำการวิเคราะห์ ประเมิน และพัฒนาแบบจำลองเพื่อช่วยในการบริหารจัดการ และแก้ปัญหา เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ข้อมูลและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติทางธรรมชาติของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตลอดจนเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และฝึกอบรมด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติของภาคใต้



    ศูนย์วิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติภาคใต้ จะทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในทุกภาคส่วน อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ รวมถึงกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยใช้เทคโนโลยีทางวิศวกรรมในการวิเคราะข้อมูล ตั้งแต่การดูปริมาณฝนทางภาพถ่ายดาวเทียม มีแบบจำลองคาดการณ์น้ำฝนในอนาคต ซึ่งจะอัพเดทข้อมูลทุก 6 ชั่วโมง มีการแจ้งเตือนฝนล่วงหน้า 3 วัน ร่วมกับข้อมูลเรดาร์ของกรมอุตุฯ แบบเรียลไทม์ และใช้ธงเหลืองกับธงแดง เป็นการแจ้งเตือนเฝ้าระวังภัยแก่ประชาชน โดยกรมชลประทานในพื้นที่จะแจ้งไปยังจังหวัด รวมทั้งจะมีกล้อง CCTV อยู่ในทุกๆ จุดที่เป็นจุดสำคัญ เพื่อให้ประชาชนได้เห็นภาพระดับน้ำจริงๆ ไม่ใช่ข่าวลือ 



ขณะนี้ภาคใต้ยังไม่เข้าสู่ฤดูฝน แต่การคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่าปีนี้จะมีฝนตกมากกว่าฝนเฉลี่ยประจำปี ร่วมกับความกังวลของประชาชนในพื้นที่รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ เนื่องจากในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่จะมีน้ำท่วม 10-12 ปี/ครั้ง ซึ่งปีนี้ครบปีที่ 12 พอดี จึงควรที่จะต้องช่วยกันเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น

“การบริหารจัดการน้ำท่วมที่ดีที่สุดก็คือการเตือนภัย เนื่องจากใช้เงินน้อยมากแต่มีประสิทธิผล ทำให้ประชาชนสามารถย้ายของได้ทัน เกิดความเสียหายน้อยที่สุด” รศ. ดร.ธนิต กล่าว