ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ศูนย์ส่งเสริมการจัดสวนป่าฯ คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม ม.อ.วางระบบให้สวนยางของ สกย.ผ่านมาตรฐานโลก (FSC FM)




        ศูนย์ส่งเสริมการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน ตามมาตรฐานสากล คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้บริการด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นที่ปรึกษาด้านการรับรองคุณภาพ เช่น FSC FM,FSC CoC  PEFC, มอก.14061, มอก.2861, ISO และเป็นที่ปรึกษาวางระบบ FSC-FM และFSC-CoC  มาตรฐานสากล ให้กับสถาบันและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางพาราและไม้ยางพาราทั่วประเทศ พร้อมเร่งยกระดับสวนยางพาราให้สมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน



        ล่าสุดสหกรณ์กองทุนยางคลองช้าง จ.สงขลา ที่ศูนย์ส่งเสริมการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน เป็นที่ปรึกษา ได้รับการรับรองจาก FSC เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 มีผลถึง วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2569 เป็นแนวทางให้กับสหกรณ์ต่างๆ ต่อไป โดยโรงงานแปรรูปยางพาราที่ได้รับรอง ยางพาราจะมูลค่าเพิ่มขึ้น 3-5 % และไม้ยางพาราที่ผ่านการรับรองมูลค่าเพิ่มขึ้น 10-15%

        ทั้งนี้ FSC (The forest Stewarship Council) เป็นองค์กรระหว่างประเทศ กลุ่มผู้ผลิตซื้อขายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ และผู้ทำสวนป่าจากทั่วโลก ก่อตั้งเมื่อปี 1993 ตั้งอยู่ที่ประเทศเยอรมัน และองค์การรับรองป่าไม้ PEFC (Program for the Endorsement of Forest Certification Scheme)



        ดร.อรอนงค์ ล่วนรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานสากล คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็น คณะทำงานการทำสวนป่าอย่างยั่งยืน ของประเทศ เปิดเผยถึง ขั้นตอน ในการนำองค์กรเข้ารับการรับรองมาตรฐานสากล FSC และ PEFC ว่า เริ่มจากการอบรม วางแผนงาน ติดตามและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

        การลดลงของป่าไม้ตามธรรมชาติ มีสาเหตุหลักจากขาดความตระหนักในการใช้ป่าไม้ มีการลักลอบตัดไม้ การปลูกสร้างสวนป่าเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา แต่ยังคงพบไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่จำหน่ายในตลาดยังมีไม้ป่าธรรมชาติปะปนอยู่ จึงจำเป็นต้องมีมาตรฐานในการควบคุมผลิตภัณฑ์ไม้ สินค้าที่ได้รับการรับรองระบบควบคุมการเคลื่อนย้ายของสินค้าไม้ (Chain of Custody:CoC) จะได้รับการยอมรับในระดับสากล



        ศูนย์ส่งเสริมการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน ได้ความร่วมมือกับ การยางแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ตอนล่างและจังหวัดสงขลา ภายใต้บันทึกข้อตกลงโครงการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานสากล โดยมีเป้าหมายอย่างน้อย 40,000 ไร่ เพื่อขับเคลื่อนสวนยางอย่างยั่งยืนสู่มาตรฐานสากล