ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ศูนย์ความเป็นเลิศนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมอาหารทะเล (ICE-SSI) ม.อ. มุ่งสู่การเป็นศูนย์วิจัยระดับโลก พร้อมสร้างงานวิจัยและบุคลากรคุณภาพ




    ประเทศไทยมีการส่งออกอาหารทะเลเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีการส่งออกทั้งรูปแบบสดและแปรรูปจำนวน 1.5 ล้านตัน มีมูลค่า 195,000 ล้านบาทต่อปี อาหารทะเลจึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก



ศูนย์ความเป็นเลิศนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมอาหารทะเล (ICE-SSI) คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 เพื่อเป็นศูนย์วิจัยชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมอาหารทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อการใช้ประโยชน์และการพัฒนาทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ภายใต้ภารกิจการดำเนินการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่ทันสมัย เพื่อการนำไปใช้ในวงวิชาการและอุตสาหกรรม ผลิตกำลังคนคุณภาพสูงในด้านวิทยาศาสตร์อาหารทะเลและนวัตกรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด เสริมสร้างความร่วมมือวิจัยผ่านเครือข่ายมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างประเทศ ด้วยการขับเคลื่อนของทีมนักวิจัยที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ในการวิจัยด้านอาหารทะเลมาเป็นระยะเวลานานกว่า 20 ปี มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ทั้งในและต่างประเทศ



ศ. ดร.สุทธวัฒน์ เบญจกุล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมอาหารทะเล (ICE-SSI) กล่าวว่า แนวคิดหลักของศูนย์คือการมุ่งเน้นการสร้างงานวิจัยเกี่ยวกับคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารทะเลที่มีคุณภาพ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมในประเทศ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายนานาชาติ โดยมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่างประเทศ ในการสร้างงานวิจัยและร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานต่างๆ 



อีกทั้ง ยังมีการให้บริการวิชาการ ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจของมหาวิทยาลัย โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับโรงงานอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ ในเรื่องของงานวิจัยด้านอาหารทะเล โดยมีภาคเอกชนให้ความสนใจงานวิจัยเรื่องไบโอแคลเซียม เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้ประกอบการสามารถตีตลาดได้กว้าง และตอบโจทย์ตลาดฮาลาล ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ยังมีความร่วมมือกับอุทยานวิทยาศาสตร์ ในการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อสร้างงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพ



นอกจากนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมอาหารทะเล (ICE-SSI) ยังดำเนินการในเรื่องของการใช้ประโยชน์จากวัสดุเศษเหลือจากการแปรรูปอาหารทะเล ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมอาหารทะเล ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาประเทศ โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และโมเดล BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) คือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนยังตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องกำลังคน คือ การสร้างบัณฑิตศึกษา ซึ่งปัจจุบันมีนักศึกษาทั้งในและต่างประเทศให้ความสนใจเข้ามาศึกษา และคาดว่าจะมีนักศึกษาทยอยสมัครเข้ามาอย่างต่อเนื่อง



“ศูนย์ความเป็นเลิศนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมอาหารทะเล (ICE-SSI) มีบุคลากรและนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ แบบครบวงจร เพื่อขับเคลื่อนการสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง มุ่งสู่การเป็น World Class Research Center ผลิตองค์ความรู้ที่ทันสมัย สามารถแข่งขันในระดับโลก รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในการต่อยอดเชิงพาณิชย์ พร้อมกับการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ เพื่อรับใช้สังคมในระดับชาติและนานาชาติต่อไป” ศ. ดร.สุทธวัฒน์ กล่าว