ข่าวชาวสงขลานครินทร์

วารสารโรคติดต่อระดับโลก ตีพิมพ์งานวิจัยคณะแพทย์ ม.อ. ยืนยันสมมุติฐานที่ว่า โควิดติดจากแมวสู่คนได้ แต่โอกาสน้อยมาก




คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยืนยันการศึกษาวิจัย เชื้อโควิดสามารถติดจากแมวสู่คนได้ แต่โอกาสน้อยมาก ย้ำอย่าให้เป็นสาเหตุของการทอดทิ้งสัตว์เลี้ยงป่วย 

จากการที่วารสารโรคติดต่อระดับโลก “อิเมอร์จิ้ง อินเฟ็คเชียส ดีซิส” Emerging Infections Diseases ของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ หรือ ซีดีซี ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยคณะแพทยศาสตร์ และ คณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 และนิวยอร์ค ไทมส์ สื่อชื่อดัง ของสหรัฐอเมริกา นำเสนอรายงานผลการศึกษาดังกล่าว ว่าน่าจะเป็นรายแรกของโลกที่พบการติดเชื้อโควิด-19 จากแมวสู่คนได้



เมื่อวันที่ 20 มิถุนาย 2565 รศ. ดร.นพ.ศรัญญู ชูศรี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโรงพยาบาล และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ สาขาวิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็น 1 ในทีมวิจัย ได้แถลงถึงผลการวิจัยดังกล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 มี พ่ออายุ 64 ปี และลูกชายอายุ 32 ปี จากกรุงเทพมหานคร มารักษาโควิด-19 ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และนำแมวพันธุ์ไทยสีส้ม อายุ 10 ปี เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จากการตรวจพบว่าแมว ติดโควิด-19 โดยการเก็บสิ่งส่งตรวจ ระหว่างเก็บสิ่งตรวจ แมวจามออกมา เพราะมีการไปเขี่ยจมูก สัตวแพทย์ที่เก็บสิ่งส่งตรวจใส่หน้ากากอนามัย แต่ไม่ได้สวมเฟสชีลด์ หลังจากนั้น 3 วัน สัตวแพทย์ อายุ 32 ปี ที่ทำหน้าที่เก็บสิ่งส่งตรวจก็ติดโควิด



“เนื่องจากมีความกังวลการระบาดจากแมวสู่คน จึงทำการศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมของเชื้อ พบว่าเป็นเชื้อจากเจ้าของไปสู่แมว และในการตรวจผู้ป่วยที่เป็นสัตวแพทย์ กับตัวเชื้อของแมว พบว่าเป็นเชื้อตัวเดียวกัน ทีมวิจัยจึงตรวจสอบเชื้อที่มีการระบาดในช่วงนั้น ซึ่งมีประมาณ 20 กว่าสายพันธุ์ พบว่าไม่มีเชื้อตัวไหนเหมือนของแมวและสัตวแพทย์ รวมทั้งเจ้าของแมว ซึ่งเป็นเชื้อที่ไม่มีการระบาดในชุมชน จึงเป็นการยืนยันสมมุติฐานที่ว่ามีการระบาดเชื้อจากแมวสู่คน” โดยปัจจุบันทั้งแมว เจ้าของ และสัตวแพทย์แข็งแรงดี

    เป็นการยืนยันข้อมูลที่มีการพบก่อนหน้านี้ เป็นการพิสูจน์แล้วว่าเชื้อโควิดสามารถมีการระบาดจากคนสู่แมวได้ รวมทั้งสุนัข และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ จึงควรพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยงช่วงที่เราเจ็บป่วย 



    ทั้งนี้ การพบการติดเชื้อจากแมวสู่คนเป็นได้ค่อนข้างน้อย มีความเสี่ยงต่ำ โดยพบว่าในแมวที่มีการติดเชื้อ เมื่อตรวจบริเวณขนและฝ่าเท้าไม่พบเชื้อเลย การสัมผัสลูบคลำโอกาสที่จะเป็นค่อนข้างน้อย และที่สำคัญเวลาแมวติดเชื้อ จะไม่มีอาการ ขอย้ำว่าจากกรณีนี้ ขออย่าให้เป็นสาเหตุของการทอดทิ้งสัตว์ป่วย 

งานวิจัยอ้างอิง
https://wwwnc.cdc.gov/eid/article/28/7/21-2605_article?fbclid=IwAR0lAbnsY6UYCMWSsm_-B4na2VuDvnCh9rw_FGCUN1K-4jO_NUmN--PTi64