ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.อ. ร่วมฟื้นเมืองหาดใหญ่ สร้างจุดขายจากความโดดเด่นของอาหารและวัฒนธรรม




    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงแนวทางการฟื้นฟูเมืองหาดใหญ่ที่ประสบปัญหา ขาดนักท่องเที่ยวจากสถานการณ์การระบาดของโควิดที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้ภาวะเศรษฐกิจของหาดใหญ่ลดลงอย่างมากว่า ภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นกับเมืองท่องเที่ยวหลายเมืองทั่วโลกตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อผ่านพ้นวิกฤติไปแล้วจะมีโอกาสกลับมาเป็นเมืองที่มีชีวิตชีวาเหมือนเดิมได้อีก แต่ก่อนการฟื้นตัวของเมืองหาดใหญ่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องฟื้นตัวขึ้นมาก่อนเพราะต้องมีการร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ องค์กรส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน ภาคการศึกษา และสื่อสารมวลชน 



    ในการร่วมให้ความเห็นในการเสวนาออนไลน์ “หาดใหญ่ไม่ตาย” ครั้งที่ 2 ร่วมกับนักวิชาการและนักธุรกิจในพื้นที่ จัดโดย “สงขลาโฟกัส” เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ กล่าวว่า ในสถานการณ์ดังกล่าวทุกฝ่ายต้องช่วยกันส่งเสริมด้วยทัศนคติที่ดีว่าหาดใหญ่เป็นของทุกคน โดยใช้พื้นฐานด้านประสบการณ์ ด้านวิชาการและด้านปฏิบัติการ และต้องกลับมามุ่งกลุ่มเป้าหมายในประเทศมากขึ้นจากที่พึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติมานาน ซึ่งในเรื่องดังกล่าวสถาบันการศึกษาในจังหวัดสงขลาสามารถเข้าศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาจุดขายที่มีอยู่โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมและอาหารการกิน เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาเมืองเพื่อความยั่งยืน 



    การศึกษาวิธีการเพื่อสร้างจุดขายให้การท่องเที่ยว อาหารและวัฒนธรรมให้ยั่งยืนเป็นสิ่งที่ทำยาก ต้องมีความอดทนและร่วมมือกันทุกฝ่าย ต้องมีการจัดหมวดหมู่ หาความโดดเด่นและเอกลักษณ์ให้กับจุดขายเหล่านั้น โดยหลายหน่วยงานของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้มีส่วนในการพัฒนาด้านนี้โดยใช้วิชาการด้านการแปรรูปอาหาร การถนอมอาหาร และการทำบรรจุภัณฑ์เป็นต้น นอกจากนั้นยังได้มีการลงพื้นที่เพื่อจัดทำแผนที่วัฒนธรรมนครหาดใหญ่ ใน 4 ชุมชน ทั้งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหารขึ้นชื่อ และนำมารวบรวมสร้างเป็นจุดขายการท่องเที่ยวภายใต้แนวคิด Hatyai Eat Pray Love กิน เที่ยว ไหว้ ที่หาดใหญ่ โดยล่าสุดได้จัดประกวดแข่งขัน “ออกแบบมาสคอต สัญลักษณ์เมืองหาดใหญ่” เป็นตัวการ์ตูน “น้องกิม” และ “น้องหยง” เพื่อนำไปทำสติกเกอร์ไลน์ และติดบนบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นต่างๆ 



    ที่ผ่านมา สิ่งที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศคืออาหารท้องถิ่น โดยเฉพาะอาหารที่มีประวัติความเป็นมาและเรื่องราวที่สามารถมาเพิ่มจุดขายได้ นอกเหนือจากการสร้างเมนูอาหารชนิดใหม่ที่หาได้ยากในจังหวัดอื่นและมีรสชาติดีเป็นที่นิยม โดยจะต้องถ่ายทอดจุดขายนี้ไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่นภาคการท่องเที่ยว ส่วนการที่มีอาหารเอกลักษณ์ของหาดใหญ่เช่น “ไก่ทอดหาดใหญ่” ไปขายในจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นการทำให้เมืองหาดใหญ่เป็นที่รู้จักของคนพื้นที่อื่นๆ แต่จะดียิ่งขึ้นหากนักท่องเที่ยวได้มากินอาหารนั้นๆ ที่หาดใหญ่และพบว่ามีความพิเศษของรสชาติมากกว่าการไปกินที่อื่น และต้องมาที่นี่เท่านั้น 

    

    คำขวัญของประเทศที่ตกทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นที่ว่า ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังไม่บรรลุเป้าหมายเพราะติดที่ระบบการพัฒนา การพัฒนาของภาครัฐไม่ทันภาคเอกชน ส่งผลให้เมืองเติบโตอย่างไร้ทิศทาง  การขาดการจัดการเรื่องปัญหาในเมืองเช่นด้านกายภาพ มลภาวะ การขาดพื้นที่ทางสังคม ขาดการสะท้อนสภาพที่แท้จริงของเมือง  แต่สำหรับหาดใหญ่ โอกาสของเราคือการเป็นเมืองศูนย์กลางที่มีประชากรที่มีคุณภาพ เป็นเมืองติดชายแดนที่มีโอกาสแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับประเทศเพื่อนบ้าน มีทุนความเจริญด้านโลจิสติก และมีศูนย์กลางด้านการเงินและการบริการที่ดี 



    “เราต้องทำการท่องเที่ยวแบบเชื่อมโยงกับพื้นที่โดยรอบ เราต้องช่วยกันอย่างจริงจัง มีเวทีพูดคุยเพื่อนำสู่การปฏิบัติที่ชัดเจน และเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาพัฒนาบ้านเมืองที่เขาจะต้องอยู่ต่อไปในอนาคต ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ยินดีที่จะเป็นหน่วยงานหนึ่งในการพลิกฟื้นหาดใหญ่ให้กลับไปสู่ยุคแห่งความรุ่งเรืองเช่นเมื่อก่อน” รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าว