ข่าวชาวสงขลานครินทร์

สงขลานครินทร์ จับมือ เทศบาลนครหาดใหญ่ จัดงาน กินไหว้เที่ยวที่หาดใหญ่ Eat Pray Love @ หาดใหญ่




    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ เทศบาลนครหาดใหญ่ จัดงานกินไหว้เที่ยวที่หาดใหญ่ Eat Pray Love @ หาดใหญ่ ระหว่างวันที่ 23-25 เมษายน 2564 ณ บริเวณถนนนิพัทธ์อุทิศ 1 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เผยแพร่อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของนครหาดใหญ่สู่สาธารณชน โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรม ประกอบด้วย อาหารมงคล มงคลแห่งศรัทธา เทศกาลมงคล และวิถีมงคล ด้วยการแสดงแสงสีเสียง



    ผศ. ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า เมืองหาดใหญ่ได้รับการยกย่องว่าเป็น "เมืองหลวงแห่งภาคใต้" และมีความมั่งคั่งมาตั้งแต่อดีต แต่ใน 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เมืองหาดใหญ่กลับกลายเป็นเมืองที่เงียบเหงา ส่งผลต่อธุรกิจโรงแรม ธุรกิจบริการ และการปิดกิจการร้านค้าต่างๆ จำนวนมาก ทำให้เศรษฐกิจของหาดใหญ่อ่อนแรงลง

    ดังนั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของอำเภอหาดใหญ่ และให้เกิดการเผยแพร่อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของนครหาดใหญ่สู่สาธารณชน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ร่วมกับเทศบาลนครหาดใหญ่ จัดงานกินไหว้เที่ยวที่หาดใหญ่ "Eat Pray Love @ หาดใหญ่" ระหว่างวันที่ 23-25 เมษายน 2564 บนถนนใจกลางย่านเศรษฐกิจ คือ บริเวณอาคารชิโนยูโรเปี้ยน ถนนนิพัทธ์อุทิศ 1 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ การสร้างงาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มรดกวัฒนธรรมส่งต่อรุ่นสู่รุ่น พลิกฟื้นเศรษฐกิจหาดใหญ่ อัตลักษณ์ที่เคียงคู่ภาคใต้ และสังคมไทยสืบไปในอนาคต



    โครงการวิจัย “นครหาดใหญ่บนฐานทุนวัฒนธรรมตามอัตลักษณ์ชุมชน” ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ ดร.สิริวิท อิสโร อาจารย์ดวงธิดา พัฒนา อาจารย์ณัฐกานต์ รัตนพันธุ์ และคณะ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ลงพื้นที่สอบถาม และสร้างความร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่ใจกลางนครหาดใหญ่ ประกอบด้วย 1. ชุมชนกิมหยงสันติสุข 2. ชุมชนพระเสน่หามนตรี 3. ชุมชนแสงศรี และ 4. ชุมชนท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง พบว่าหาดใหญ่มีทุนทางวัฒนธรรมสำคัญ 4 ส่วนภายใต้ อาหารมงคล (Auspicious Food) มงคลแห่งศรัทธา (Auspicious Faith) เทศกาลมงคล (Auspicious Faith) และ วิถีชีวิตมงคล (Auspicious Lifestyle)



    ภายในงานจะมีการจัดแสดงแสงเสียงที่สะท้อนให้เห็น "วิถีชีวิตอันเป็นมงคลของคนหาดใหญ่" การแสดงศิลปะและวัฒนธรรมบนท้องถนน การออกร้านจำหน่ายอาหารมงคล สินค้ามงคลจากผู้ประกอบการรุ่นใหม่ นอกจากนี้มีการจัดกิจกรรม วิถีมงคลร่วมกับชุมชนในพื้นที่ เช่น การทำขนมมงคล การจัดนิทรรศการ พร้อมกิจกรรมเสวนาวิชาการ “พัฒนาหาดใหญ่บนเส้นทางสายวัฒนธรรม” 



    ประชาชนทุกเพศ ทุกวัยที่เมื่อมาร่วมงานแล้ว จะสัมผัสกับ "ประสบการณ์แปลกใหม่ และตกหลุมรักเมืองหาดใหญ่อีกครั้ง” และที่สำคัญผู้ร่วมงานจะได้ตระหนักถึงคุณค่า และความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมที่มีในพื้นที่ ซึ่งจะนำมาสู่การอนุรักษ์ หวงแหนไว้ให้ลูกหลานสืบต่อไป ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารและรูปแบบกิจกรรมต่างๆ ในงานได้ทาง Facebook Eat Pray Love หาดใหญ่