มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมืองอัจฉริยะ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำร่องเมืองอัจฉริยะและแหล่งเรียนรู้ นำเทคโนโลยีดิจิตอล ที่วิทยาเขตหาดใหญ่ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อถ่ายทอดความรู้และนวัตกรรม
ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปช่วยในการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองต้นแบบอัจฉริยะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ดำเนินการออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มที่วิทยาเขตหาดใหญ่ โดย ทีมงานสถาบันวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัล ทั้งนี้ การนำไปใช้ในระดับจังหวัดที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ จำเป็นต้องมีระบบควบคุม และงบประมาณเพียงพอ
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 ผศ. ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัล กล่าวว่า วิวัฒนาการของเทคโนโลยีส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง การใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน เนื่องจากโลกกำลังเผชิญกับความหลากหลายของปัญหาประกอบด้วย สังคมผู้สูงอายุ ทำให้มีจำนวนคนทำงานน้อยลงการเปลี่ยนของสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน เป็นต้น เทคโนโลยีดิจิทัลถูกนำไปใช้งานตั้งแต่เรื่องสุขภาพ การแพทย์ การเกษตร รวมถึงการช่วยบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นต้นแบบ นำร่องการใช้ประโยชน์ ทั้งนี้สถาบันฯได้นำไปใช้แล้วนำร่องที่จังหวัดภูเก็ต
สถาบันวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงได้พัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อติดตั้งใช้งานภายในมหาวิทยาลัย ให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของเมือง Startup และผู้ที่สนใจ โดยกำหนดเมืองอัจฉริยะในวิทยาเขต ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ดำเนินการออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์ม มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ วิทยาเขตอัจฉริยะ (Smart University : Smart Campus) นำร่องที่วิทยาเขตหาดใหญ่ ตามโมเดลของเมืองอัจฉริยะ 7 ด้านดังนี้
1. ด้านสิ่งแวดล้อม (Smart Environment) ติดตั้งเครื่องวัดสภาพอากาศฝุ่น PM2.5, PM10 และติดตามระดับสภาพน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ทั้งภายในวิทยาเขตและในพื้นที่จังหวัดสงขลา เพื่อติดตามอุทกภัย เพื่อความปลอดภัยของเมือง ร่วมกับท้องถิ่น
2. ด้านเศรษฐกิจ (Smart Economy) เน้นการพัฒนาต้นแบบของสมาร์ทฟาร์ม (smart farm) ถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรในการนำไปสร้างรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การปลูกเมล่อน ของคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
3. ด้านพลังงาน (Smart Energy) มีการใช้ระบบอินเตอร์เน็ต (IoT) เฝ้าตรวจสอบสภาพการใช้พลังงานจากเสาไฟส่องสว่าง มีระบบตรวจสอบการใช้งาน การปรับลดความเข้มของการส่องสว่างเพื่อลดการใช้พลังงานในช่วงเวลาที่ไม่มีการใช้งาน ให้ความสะดวก ปลอดภัย รถยนต์ที่เข้ามาภายในมหาวิทยาลัย และผู้ที่มาใช้บริการออกกำลังกายที่ริมอ่างน้ำของมหาวิทยาลัย
4. ด้านระบบรถไฟฟ้าโดยสารสาธารณะ (Smart Mobility) มีระบบรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะที่มีเส้นทางของการให้บริการภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และมีระบบการติดตามเรียลไทม์ออนไลน์ (online real-time tracking) แสดงผ่าน แอปพลิเคชันบนเว็บ ให้ผู้อยู่ภายในวิทยาเขตหาดใหญ่ สามารถใช้ทราบตำแหน่งปัจจุบันของรถ เส้นทาง และทราบว่าเมื่อไหร่รถจะมาถึง จุดจอดรถหรือ ป้ายรถเมล์ ที่เรากำลังยืนรอ
5. ด้านการใช้ชีวิต (Smart Living) มีส่วนของแอปพลิเคชัน รองรับสถานการณ์การเฝ้าระวัง covid-19 ในปัจจุบัน ผ่านชื่อ “PSU Care” ระบบกล้องรักษาความปลอดภัยผสมผสานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI ทางเข้าออกมหาวิทยาลัย รวมถึงกำลังขยายให้มีระบบกล้องรักษาความปลอดภัยครอบคลุมทั้งพื้นที่วิทยาเขต ผ่านชุด Smart Pole หรือเสาไฟฟ้ายุคใหม่ จำนวน 12 ต้น
6. ด้านธรรมาภิบาล (Smart Governance) มีระบบวิเคราะห์และประมวลผลชุดข้อมูลที่จำเป็นและสำคัญเพื่อคาดการณ์ เสนอแนะให้กับการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ทางกายภาพให้กับผู้บริหาร
7. ด้านความฉลาดของบุคคล (Smart People) จัดให้มีศูนย์เรียนรู้ สร้างแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่มีเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้แบบใหม่ มีเครื่องมือทันสมัยตั้งแต่ เครื่องพิมพ์ 3 มิติ หรือหุ่นยนต์ เพื่อการเรียนรู้
การพัฒนาต้นแบบภายในมหาวิทยาลัยให้สามารถตอบสนองมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ วิทยาเขตอัจฉริยะ (Smart University: Smart campus) เพื่อเป็นแหล่งถ่ายทอดนวัตกรรม ถ่ายทอดความรู้ให้กับเมือง เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เพจเฟสบุ๊ค
https://www.facebook.com/drii.psu สถาบันวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัล โทร.074287395