ข่าวชาวสงขลานครินทร์

สงขลานครินทร์ กลุ่มเส้นด้าย และ รพ.หาดใหญ่ จิตอาสาให้คำปรึกษา จัดยา และส่งอาหาร แก่ ผู้ป่วย HOME ISOLATION




    “ได้รับรู้ว่า ยังมีอีกหลายคนที่ต้องการความช่วยเหลืออีกมาก และได้แบ่งเบาภาระ บุคลากรทางการแพทย์”

นักศึกษาจิตอาสาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กว่า 500 คน ในนามศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับโรงพยาบาลหาดใหญ่ และกลุ่มเส้นด้าย ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 



    โดย ทำหน้าที่ CALL CENTER รับโทรศัพท์ โทรสอบถามที่อยู่ ซักประวัติ ขอข้อมูลเพิ่มเติมของผู้ป่วย ในการเข้าระบบติดตามการรักษา รวมถึงให้คำปรึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับการกักตัว ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาตัวอยู่ที่บ้าน (HOME ISOLATION) โดยแต่ละวัน ได้ซักประวัติ และคอยให้คำแนะนำ ปรึกษาแก่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ติดต่อเข้ามาประมาณ วันละ 300 คน เพื่อนำข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 มาลงทะเบียน เข้าระบบของเทศบาลนครหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์- 4 มีนาคม 2565



    พร้อมทำหน้าที่จัดเตรียม กล่องยา พร้อมยาต้านไวรัส (ยาฟาวิพิราเวียร์ 200 มิลลิกรัมต่อเม็ด) ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ โดยมีนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นักเรียน และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมปฎิบัติงาน ที่ จุด CALL CENTER ณ โรงแรมหรรษาเจบี หาดใหญ่  



รวมทั้งภารกิจ ทำหน้าที่ไรเดอร์จิตอาสา ร่วมกับ แอปพลิเคชัน One Chat (วันแชท) ส่งมอบอาหารให้กับผู้ติดเชื้อในระบบ HOME ISOLATION



นายรชดี้ บินหวัง หัวหน้างานพัฒนาอาสาสมัคร ศูนย์อาสาสมัคร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ระดมอาสาสมัครนักศึกษาบุคลากรและนักเรียน รวมถึงประชาชน ทั่วไป ร่วมดำเนินงานจิตอาสาช่วยเหลือ โรงพยาบาลหาดใหญ่ เทศบาลนครหาดใหญ่ ในภารกิจ 4 ด้าน ได้แก่

  • ภารกิจจัดกล่องยาเพื่อผู้ติดเชื้อ ณ โรงพยาบาลหาดใหญ่ โดยมีจำนวนอาสาสมัครเข้าร่วมจำนวน 325 คน สามารถผลิตกล่องยาได้ เฉลี่ยวันละ 300-500 กล่องต่อวัน
  • ภารกิจโทรประสานงานไปยังผู้ป่วยเพื่อสอบถามประวัติการติดเชื้อ มีอาสาสมัครร่วมดำเนินการ จำนวน 120 คน
  • การระดมอาสาสมัครช่วยเทศบาลนครหาดใหญ่ ในการลงทะเบียนข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 35 คน
  • ภารกิจ ระดมอาสาสมัคร ทำหน้าที่ ไรเดอร์จิตอาสาร่วมกับวันแชท เพื่อส่งมอบอาหารให้กับ ผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระบบ HOME ISOLATION


เหล่าจิตอาสา ลูกสงขลานครินทร์ ได้สะท้อนความรู้สึกในการทำงานว่า

“ได้ช่วยเหลือแบ่งเบาหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ ได้ฝึกทักษะการสื่อสาร และฝึกความกล้าในการสอบถามข้อมูล ฝึกความคิด การตัดสินใจ และการทำงานร่วมทีมอย่างเป็นระบบ”

“ประทับใจในการร่วมมือกันทำงาน ได้ฝึกตนเองในการทำงานร่วมกันกับผู้อื่น ได้เพิ่มทักษะการสื่อสารของตนเอง ได้ช่วยเหลือผู้อื่น สังคม รวมถึงได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ และฝึกความอดทนของตนเอง ได้เห็นถึงการทำงานอย่างเป็นระบบของทีมบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งเข้าใจบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น”

“ได้ฝึกทักษะการสื่อสารในเรื่องของการพูด และได้แบ่งเบาภาระหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงได้ฝึกการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในการทำงาน ได้ฝึกทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดียิ่งขึ้น”

“ประทับใจในสรรพนามที่ผู้ป่วยเรียกเรา รู้สึกว่าเขาให้เกียรติเรา และประทับใจในน้ำเสียงในการพูดคุย ทำให้รู้สึกดีในการทำงาน ได้ฝีกการปฏิบัติตัวในการทำงานร่วมกัน และได้ฝึกความกล้าในการพูด ในการซักประวัติผู้ป่วย ได้ทราบและเข้าใจเจ้าหน้าที่มากขึ้น รวมถึงทำให้ได้รับรู้ว่ายังมีอีกหลายคนที่ต้องการความช่วยเหลืออีกมาก”

ขณะนี้ ยังมีความต้องการอาสาสมัคร เข้ามาช่วยเหลืองานอีกมาก ติดตามที่ได้ เพจ ศูนย์อาสาสมัคร ม.อ. https://www.facebook.com/psuvolunteerCenter/