ข่าวชาวสงขลานครินทร์

25 มหาวิทยาลัย เห็นชอบกับสงขลานครินทร์ เสนอเปิดช่องทางผลิตผลงานนวัตกรรม รับวุฒิปริญญาโท-เอก




บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เสนอแนวทางใหม่ในการได้รับวุฒิปริญญาโท-เอก ด้วยการผลิตผลงานนวัตกรรม นอกเหนือจากการทำผลงานตีพิมพ์ทางวิชาการ ให้เป็นอีกทางเลือก และแนวคิดเพื่อให้ภาคธุรกิจเอกชน ส่งเสริมการวิจัยนวัตกรรมให้มีศักยภาพเติบโตต่อเนื่องอย่างยั่งยืน



เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 ศ. ดร.ดำรงศักดิ์ ฟ้ารุ่งสาง คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะรองประธานที่ประชุมคณะผู้บริหารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยของรัฐและมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ทคบร.) รวม 25 มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในระบบการศึกษาของเรารูปแบบเดิม ผู้ที่จะเรียนจบปริญญาโท-เอก ต้องตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ แทนที่จะตีพิมพ์เราก็มีทางเลือก ด้วยการแสดงผลงานนวัตกรรม ที่มีผลไปถึงผู้ใช้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็น นวัตกรรม ชิ้นงานศิลปะ รูปเขียน หนังสือ นโยบายสาธารณะ(กระบวนการดำเนินงาน ให้บรรลุวัตถุประสงค์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง) นวัตกรรม ซึ่งนำไปจดสิทธิบัตรได้ โดยเสนอไปที่คณะกรรมการนโยบายวิชาการ สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไปยังระดับประเทศ คือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดยมหาวิทยาลัยต่างๆ เห็นชอบกับข้อเสนอนี้



    ผู้ทำวิจัย กับ แหล่งทุน คือโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ใช้งานวิจัย ก็จะมาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการตรวจสอบตั้งแต่โครงร่างของวิทยานิพนธ์ จะต้องสามารถพิสูจน์ได้ว่าใช้งานได้จริง  ผลการประเมินอยู่ที่การตรวจสอบของผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 3 คน คือ อาจารย์ที่ปรึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้อง ภายในมหาวิทยาลัยอีก 2 คน
บางครั้งเมื่อตีพิมพ์ผลงานระดับนานาชาติ ก็มีบริษัทต่างชาตินำความรู้นั้นไปผลิตสินค้าโดยไม่ต้องเสียเวลาวิจัยแล้ว เช่น สมุนไพรไทยบางชนิด ที่ประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ประเทศญี่ปุ่นได้นำไปผลิตเป็นสินค้า และมองว่าสินค้าแบรนด์ไทย ที่ปิดตัวลง อย่างเช่น เครื่องไฟฟ้า ธานินทร์ และโทรศัพท์มือถือ ไอโมบาย ถ้าหากมีการพัฒนาวิจัยอย่างต่อเนื่องก็จะเติบโตได้อย่างยั่งยืน



ล่าสุด นางลัดดาวัลย์ เทพอ่อน นักศึกษาปริญญาเอก สาขาการจัดการพลังงานอย่างยั่งยืน คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผู้ประกอบการและผู้บริหารบริษัทเมดิคอล โกรฟ จำกัด จ.กระบี่ ได้ผลิตชิ้นงาน เครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเชื้อเพลิงชีวมวล สำหรับการผลิตถุงมือยาง ในประเทศไทย สามารถลดค่าเชื้อเพลิงลงได้ 1.07 ล้านบาท / ปี เข้ารับการประเมิน วุฒิปริญญาเอก โดยมี ดร.อิสระ ชนะแก้วสมบูรณ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และ รศ. ดร.เกื้ออนันต์ เตชะโต คณบดีคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้การสนับสนุน



นอกจากเห็นชอบแนวทางใหม่ในการรับปริญญาโท-เอก แล้ว เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2565 ที่ประชุมคณะผู้บริหารบัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยของรัฐ และมหาวิทยาลัยในกํากับของรัฐ ยังร่วมลงนาม ให้นักศึกษาสามารถลงทะเบียนเรียน รายวิชาข้ามสถาบัน เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมประสบการณ์ทางวิชาการและสังคมอีกด้วย