ข่าวชาวสงขลานครินทร์

PLA NARE ผลิตภัณฑ์น้ำพริกปลากระตัก นำร่องเพื่อส่งออกผลพวงจากการรวมศาสตร์ ของนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี เพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชน




    นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี บูรณาการศาสตร์นำความรู้สร้างเศรษฐกิจชุมชนเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ปลากะตักตากแห้ง กลุ่มประมงพื้นบ้านปะนาเระ จังหวัดปัตตานี สร้างแบรนด์ PLA NARE นำร่องขยายตลาดออนไลน์เพื่อส่งออกประเทศจีน  


ตัวอย่างสินค้า ผลิตภัณฑ์น้ำพริกจากปลากระตัก   


การลงพื้นที่ในกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลากะตักตากแห้งร่วมกับกลุ่มแม่บ้านชุมชนประมงตำ บลปะนาเระ อำ เภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี

    การขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ เป็นเป้าหมายที่ว่าด้วยการลดความยากจนทั้งทางเศรษฐกิจ และความยากจนในมิติอื่นๆ ซึ่งเป็นเป้าหมายลำดับที่ 1 ของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG1) จากรายงานของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าปี 2563 คนจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 5 แสนคน เส้นความยากจนขยับลงมาอยู่ที่ 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน โดยปัญหาความยากจนในภาคใต้ พบว่า มีปัญหารุนแรงขึ้นจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน โดยปี 2563 คนจนใน 3 จังหวัดมีสัดส่วนประมาณ 48.8% ของคนยากจนในภาคใต้ และเพิ่มขึ้นถึง 23.5% ขณะที่จังหวัดที่เหลือในภาคใต้มีจำนวนคนจนลดลง 10.12% โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานี มีสัดส่วนคนจนติดอันดับสูงสุด 10 อันดับแรกมาตั้งแต่ปี 2547 ต่อเนื่องถึงปี 2563 หรือตลอดเวลา 17 ปี นอกจากนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของชุมชนเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ



การอบรมเทคนิค LEAN CANVAS ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของนักศึกษาต่างชาติและนักศึกษาไทย
 
    ผศ. ดร.ซัมซู สาอุ อาจารย์คณะวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ปรึกษาโครงการ Fish Win : การพัฒนาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ปลากะตักตากแห้งเพื่อส่งออกประเทศจีน กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าวทำให้จัดตั้งกลุ่มเพื่อจัดทำโครงการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาความยากจนดังกล่าวโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นและเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้โครงการ Fish Win : การพัฒนาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ปลากะตักตากแห้งเพื่อส่งออกประเทศจีน เป็นหนึ่งใน 2 ของโครงการ Reinventing University วิทยาเขตปัตตานี โดยมีกลุ่มนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในหลากหลายสาขาวิชา อาทิ นางสาวมาณาล บาสอสิดิก คณะศึกษาศาสตร์ นางสาวทรายนับ มาหิเละ นายอามีรุณ ขาเดร์ รัฐศาสตร์ นางสาวนูรุลมุมีนะห์ มะแซ นายมูฮัมหมัดอิรฟัน บินเจ๊ะมะ นางสาวซูฮัยร์ลา มะเซ็ง Mr.Ma Sitong Mr.Wu Lei คณะวิทยาการอิสลาม นายซอฟรอน เกงเลอมะ นายซอฟรอน แวดาโอะ นางสาวฟาตีฮะห์ ดือราแม นางสาวซัลวา ดอเล๊าะ นางสาวนูซีลา ติยี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น โดยมี ผศ. ดร.ซัมซู สาอุ คณะวิทยาการอิสลาม และ ดร.รุสลี นุห์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ คณะวิทยาการอิสลาม เป็นที่ปรึกษาโครงการ โดยมีการเลือกชุมชนประมง ตำบลปะนะเระ อำเภอปะนะเระ จังหวัดปัตตานี เป็นพื้นที่นำร่องในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นคือปลากะตักตากแห้ง เพื่อการส่งออกไปยังประเทศจีน ได้ร่วมออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ภายใต้แนวคิดการบูรณาการศาสตร์ การบูรณาการกับสาขาวิชาเพื่อการทำงาน และการสร้างเครือข่ายกับต่างประเทศเพื่อพัฒนาภาษาและการรอบรู้การเป็นพลเมืองโลก
 

การทดลองและพัฒนาสูตรนำ พริกปลากะตักเพื่อส่งออกประเทศจีน

    และจัดตั้งกลุ่มลงพื้นที่สำรวจข้อมูลจากกลุ่มแม่บ้านผลิตภัณฑ์ปลากะตักตากแห้ง พบว่า ทางกลุ่มมีความต้องการจะพัฒนาผลิตภัณฑ์เพี่อเพิ่มมูลค่า และขยายตลาดการส่งออก เนื่องจากตลาดปัจจุบันมีข้อจำกัดเรื่องการส่งออก และปัญหาเรื่องของราคา อีกทั้งในช่วงวิกฤติจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ทำให้มีการเลิกจ้างแรงงาน ทำให้แรงงานจากหมู่บ้านประสบปัญหาการว่างงาน ไม่มีการงานทำ ส่งผลต่อรายได้ที่ลดลงและค่าใช้ในครอบครัวที่เพิ่มขึ้นจึงได้ออกแบบกิจกรรมที่เน้นทักษะการสร้างผู้ประกอบการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยใช้ ทักษะการเป็นผู้ประกอบการเป็นทักษะที่สำคัญและเป็นอัตลักษณ์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อาทิ ศึกษาปัญหาและความต้องการในการเพิ่มมูลค่าของปลากะตักตากแห้ง วิเคราะห์ปัญหาและนำเสนอแนวทางการผลิตและบรรจุภัณฑ์ปลากะตักตากแห้งด้วยกระบวนการ Lean Canvas  นำเสนอแนวทางการผลิตและบรรจุภัณฑ์ปลากะตักตากแห้ง พัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปปลากะตักตากแห้งและสร้างบรรจุภัณฑ์ อบรมการตลาดออนไลน์ การทดลองการขายออนไลน์ 

    MR.Ma Sitong นักศึกษาสาขาวิชาอิสลามศึกษา หลักสูตรนานาชาติ คณะวิทยาการอิสลาม กล่าวว่า ตนได้นำเสนอแนวคิดการส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีน ซึ่งมีประชากรมุสลิมอยู่จำนวนมาก โดยได้จัดแนะนำความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ การพัฒนาสูตรอาหารที่สอดคล้องกับรสนิยมของชาวจีน รวมทั้งการใช้ภาษาจีนในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์สินค้า สินค้าฮาลาลจากปะนาเระสามารถส่งออกไปยังตลาดมุสลิมจีนได้ โดยประเทศจีนมีความต้องการผลิตภัณฑ์ปลากะตัก แต่ต้องปรับปรุงส่วนผสมและรสชาติให้เข้ากับรสนิยมของคนจีนได้

    นางสาวทรายนับ มาหิเละ คณะรัฐศาสตร์ ได้สะท้อนการเรียนรู้จากโครงการ ว่า ได้ลงชุมชนจริง ได้พูดคุยกับกลุ่มแม่บ้าน ทำให้ได้เรียนรู้ปัญหาของชุมชน และแนวทางแก้ปัญหาแบบมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นสายงานในสาขาวิชาที่เรียนอยู่แล้ว นอกจากนี้โครงการได้เชิญวิทยากรที่ทำเกี่ยวกับการขายของออนไลน์ซึ่งได้ทำอยู่แล้ว ทำให้ได้รู้กระบวนการและเทคนิคของผู้ประกอบการออนไลน์ได้มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดฮาลาลและตลาดในต่างประเทศ

    นายซอฟรอน เกงเลอมะ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวถึงการเรียนรู้ที่ได้จากโครงการ ว่า ภูมิใจมากที่ได้เอาความรู้จากที่ได้เรียนมาแลกเปลี่ยนกับกลุ่มแม่บ้าน และได้ช่วยคิดค้นสูตรน้ำพริกปลากะตักร่วมกับวิทยากร อีกทั้งโครงการได้ทำการอบรมเรื่องมาตรฐานฮาลาล อย. และ GMP เพื่อการส่งออก ซึ่งเป็นความรู้เพิ่มเติมที่สามารถใช้ในการประกอบอาชีพในอนาคตได้

    นางสาวมาณาล บาสอสิดิก สาขาวิชาภาษาอังกฤษ จากคณะศึกษาศาสตร์ ได้เล่าถึงประสบการณ์การพัฒนาทักษะด้านภาษาของตนเองว่า ได้เข้าร่วมอบรมกับวิทยากรต่างประเทศ ซึ่งทำให้เห็นถึงมุมมองใหม่ๆ และตัวอย่างของการทำนวัตกรรมในยุตดิจิทัล นอกจากจะเปิดโลกทัศน์แล้ว ยังได้ฝึกการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารกับทั้งวิทยากรและเพื่อนนักศึกษาต่างชาติ ซึ่งช่วยพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษซึ่งเป็นสาขาวิชาที่เรียนอยู่ด้วย


การฝึกการใช้ CANVA เพื่ออกแบบบรรจุภัณฑ์

    ความพยายามที่จะพัฒนาโครงการเพื่อแก้ปัญหาความยากจน โดยการทำโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลากะตักตากแห้ง เพี่อการส่งออกประเทศจีนของนักศึกษาในโครงการ Fish Win เป็นโครงการทางเลือกหนึ่งที่จะพัฒนาเกษตรกรกลุ่มปลากะตักตากแห้งในจังหวัดปัตตานีให้อยู่รอดได้ในระยะสั้น และลดผลกระทบต่อการพัฒนาในระยะยาว และการเปิดตลาดออนไลน์เพื่อการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น ประเทศจีนซึ่งมีกำลังซื้อมาก ซึ่ง ผศ. ดร.ซัมซู สาอุ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการดังกล่าวนอกจะช่วยสร้างรายได้ให้กับกลุ่มชาวประมงแล้ว ยังช่วยพัฒนาทักษะของกลุ่มผลิตภัณฑ์ประมงให้เรียนรู้และใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งสามารถเพิ่มผลผลิต สร้างคุณค่าและขยายการเข้าถึงทางการตลาดของเกษตรกรได้ ซึ่งจะเป็นการสร้างอาชีพที่ยั่งยืนต่อไปซึ่งเป็นผลกระทบ (impact) ที่เกิดขึ้นโดยตรงกับชุมชน การเรียนรู้ของนักศึกษาเองก็สะท้อนถึงจุดเปลี่ยนของการจัดการเรียนรู้ในระดับอุดมศึกษาที่ใช้ประเด็นปัญหาจริงในท้องถิ่นเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ ใช้การแก้ปัญหาจากความชำนาญในสาขาวิชาของตนเองร่วมกันทำงานเป็นทีม และสร้างเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงปัญหาในท้องถิ่น ผู้คนที่หลากหลาย ใช้สหวิทยาการต่างๆ เพื่อนำทฤษฎีในห้องเรียนไปปรับใช้และพัฒนาชุมชนต่อไป
 


    นอกจากนี้ ยังมีการสร้างเครือข่ายกับต่างประเทศ สร้างความร่วมมือกับ Faculty of Business and Management จาก Universiti Teknologi Mara (UiTM) ประเทศมาเลเซีย โดยมี Assoc.Prof. Dr.Jati Kasuma Ali ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้ประกอบการ และผู้ทรงคุณวุฒิในการแข่งขันการประกวดนวัตกรรมนานาชาติได้มาเป็นพี่เลี้ยงให้กับนักศึกษาในการทำคลิปเพื่อส่งเข้าประกวดการแข่งขัน EDUCATIONAL DESIGN, GAMES, INVENTION & INNOVATION COMPETITION 2022 ซึ่งเป็นการยกระดับศักยภาพของนักศึกษาในการเข้าร่วมกิจกรรมในระดับนานาชาติ