ข่าวชาวสงขลานครินทร์

นักวิชาการ ม.อ. ระบุ บุหรี่ไฟฟ้าอันตราย ไม่ช่วยเลิกบุหรี่มวน เสี่ยงหลายโรค ตายก่อนวัย ทำลายอนาคต




ปัจจุบันสถานการณ์การบริโภคยาสูบหรือการสูบบุหรี่ในประเทศไทยยังมีระดับสูง และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นในเด็กและเยาวชน สารนิโคติน ที่เป็นองค์ประกอบในบุหรี่ จะส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ ร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ในเด็กที่สมองกำลังพัฒนา เมื่อสูบเข้าไปร่างกายจะสะสมสารพิษเรื่อยๆ ไม่ออกฤทธิ์ทำให้เกิดความเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตทันที สารพิษจะสะสมในร่างกายอย่างช้าๆ โดยไม่รู้ตัว 



รศ. ดร.พญ.รัศมี โชติพันธุ์วิทยากุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ คณะแพทยศาสตร์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า บุหรี่ไฟฟ้าเปรียบเสมือนยมทูตแปลงร่าง ที่คนสูบมองว่ามีประโยชน์ ทั้งที่จริงๆ แล้วในบุหรี่ไฟฟ้ามีสารก่อมะเร็ง และมีสารเสพติดที่ชื่อว่า นิโคติน (Nicotine) มีพิษภัยไม่ด้อยไปกว่าบุหรี่มวนหรือยาสูบเลย ยังเป็นการเสพติดได้เช่นกัน

    สารที่เป็นองค์ประกอบในบุหรี่ หรือ นิโคติน (Nicotine) จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทและสมอง ในเด็กที่สมองกำลังพัฒนาจะส่งผลให้มีผลกระทบต่อการเรียนรู้ ร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ยิ่งสูบเร็ว ยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะได้รับสารพิษยาวนานมากขึ้น อีกทั้งสารพวกนี้ยังเป็นสารเสพติด เมื่อสูบเข้าไปร่างกายจะสะสมสารพิษเรื่อยๆ ไม่ออกฤทธิ์ทำให้เกิดความเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตทันที สารพิษจะสะสมในร่างกายอย่างช้าๆ โดยไม่รู้ตัว ซึ่งความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนและระยะเวลา โดยเฉพาะเด็กและผู้ใหญ่ที่ยังแข็งแรงอยู่ จะแสดงแค่อาการไอ เหนื่อยง่าย เป็นต้น แต่การที่จะก่อให้เป็นโรคมะเร็งหรือถุงลมโป่งพอง ต้องใช้เวลาประมาณ 20-30 ปี ซึ่งในอดีตกลุ่มผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ หลอดเลือด หรือเส้นเลือดในสมองแตก แต่ปัจจุบันกลุ่มอายุ 30-40 ปี หากสูบในปริมาณมากก็มีความเสี่ยงขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้องค์ประกอบบางอย่างในบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่มีในบุหรี่มวนยังทำให้เกิดปอดอักเสบฉับพลันและเสียชีวิตได้ อีกทั้งตัวบุหรี่ไฟฟ้ายังอาจระเบิดทำให้ได้รับบาดเจ็บรุนแรงได้ 

    ผู้ที่สูบบุหรี่มวนจะได้รับสารนิโคตินหรือสารก่อมะเร็งผ่านการเผาไหม้ของยาสูบซึ่งออกมาเป็นควัน หากคนรอบข้างได้รับควันเหล่านั้น จะทำให้เกิดพิษภัยไม่ต่างกับคนที่สูบโดยตรง สำหรับบุหรี่ไฟฟ้าที่ใช้ความร้อน เพื่อระเหยของเหลวที่มีนิโคตินเป็นองค์ประกอบ กระจายเป็นละอองฝอย แน่นอนว่าหากคนรอบข้างไปสัมผัสละอองฝอยเหล่านั้น ก็เสมือนเป็นผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน

รศ. ดร.พญ.รัศมี ยังให้ข้อมูลอีกว่า ปัจจุบันเกิดความเข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะช่วยทำให้ลดหรือเลิกการสูบบุหรี่มวนได้ ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นเรื่องที่ผิดกฏหมาย และยังไม่ได้รับการรองรับว่าเป็นวิธีการหนึ่งในการเลิกบุหรี่ ดังนั้น คนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกสูบบุหรี่มวน ไม่ได้แปลว่าเลิกได้ เนื่องจากยังได้รับสารเสพติดที่เรียกว่านิโคตินอยู่ สารพวกนี้นอกเหนือจากจะมีส่วนที่เป็นสารก่อมะเร็งในบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคในระบบหลอดเลือดและหัวใจ เส้นเลือดในสมองแตก และอีกมากมาย รวมถึงหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงให้นมบุตร หากมีการสูบบุหรี่หรืออยู่ใกล้ชิดคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ายังได้รับพิษภัยเช่นกัน

สำหรับวิธีการเลิกบุหรี่มีตั้งแต่หักดิบ ซึ่งเป็นวิธีการที่คนไทยส่วนใหญ่ใช้เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยแล้ว ซึ่งช่วยอะไรไม่ได้มาก เนื่องจากร่างกายเสื่อมเสียไปมากแล้ว หากเด็กและเยาวชนตั้งใจเลิกตั้งแต่ยังไม่ได้เจ็บป่วย ถือเป็นความคิดที่ดีมาก ส่วนวิธีการเลิกสำหรับผู้ที่มีภาวะเสพติดมากอาจต้องใช้ตัวช่วย เช่น หมากฝรั่งหรือแผ่นแปะที่มีนิโคตินเป็นส่วนผสม โดยใช้เพียงชั่วคราวแล้วหยุด ยาสมุนไพรจากหญ้าดอกขาว ผู้ต้องการเลิกบุหรี่สามารถรับคำแนะนำและการช่วยเหลือให้เลิกได้ที่ คลินิกเลิกบุหรี่ในโรงพยาบาล หรือสายด่วนเลิกบุหรี่ โทร. 1600 

“ในฐานะศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ หรือ ศจย. ภาคใต้ โดยสาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เราเร่งทำวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้เพื่อควบคุมยาสูบ แต่องค์ความรู้เพียงอย่างเดียวอาจจะยังไม่เพียงพอ ต้องมีกิจกรรมและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อช่วยให้เด็กและเยาวชน หรือคนที่ติดบุหรี่สามารถก้าวผ่านภาวะเสพติดได้ รวมถึงมีกิจกรรมที่ส่งเสริมและพัฒนาสุขภาพร่างกาย จิตใจให้แข็งแรง เพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป” รศ. ดร.พญ.รัศมี กล่าว