ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ชมรมรักษ์ ม.อ. นำองค์ความรู้การอบผลผลิตด้วยแสงอาทิตย์สู่เกษตรกร สนองนโยบายสร้างรากแก้วของกระทรวง อว.




    นายพรชัย ศรีไพบูลย์ ประธานชมรมรักษ์ ม.อ. ซึ่งเป็นชมรมจิตอาสาของผู้ที่เกษียณจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการเข้าร่วมใน “โครงการเปลี่ยนคนเกษียณเป็นพลัง” ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือกระทรวง อว. ตามนโยบาย “สร้างรากแก้วให้ประเทศ” ที่สนับสนุนการให้โอกาสผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่สามารถทำงานได้และมีประสบการณ์สูงด้านทักษะเฉพาะทาง โดย “ชมรมรักษ์ ม.อ.” ได้สนองนโยบายดังกล่าวโดยเข้าร่วมโครงการ “สานพลังบวกผู้เกษียณสู่การสร้างสังคมแห่งการพัฒนาในยุควิถีชีวิตใหม่” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายสำคัญของ อว. ในยุทธศาสตร์ Quick Wins 



    ชมรมรักษ์ ม.อ. ได้รับงบประมาณส่วนหนึ่งจากโครงการ เพื่อนำไปเผยแพร่องค์ความรู้ในด้านการเกษตร โดยใช้ประสบการณ์และความรู้จากนักวิชาการที่เป็นสมาชิกของชมรม เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมโดยเฉพาะสังคมชนบท 3 กลุ่มใน 3 จังหวัด โดยเน้นกระบวนการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์อบแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นการสนองตามแนวคิดสานพลังบวกสู่กระทรวง อว. โดยนายพรชัย ศรีไพบูลย์ ประธานชมรมรักษ์ ม.อ. ได้มีประสบการณ์ในการเผยแพร่ความรู้เรื่องตู้อบแสงอาทิตย์ที่มีการลงทุนต่ำ เพื่ออบโกโก้และกาแฟ จากรองศาสตราจารย์ไพบูลย์ ธรรมรัตน์วาสิก อดีตคณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตรท่านแรก และปีที่ผ่านมาคณะอุตสาหกรรมเกษตรได้นำตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ U2T “มหาวิทยาลัยสู่ตำบล” ที่ตำบลย่านซื่อ จังหวัดสตูล และที่แหลมสัก จังหวัดกระบี่ สำหรับให้คนในชุมชนมาเรียนรู้และใช้งาน และเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยสู่ชุมชน



    สำหรับ กลุ่มเกษตรกร 3 กลุ่ม ที่ ชมรมรักษ์ ม.อ. ได้เข้าไปเผยแพร่องค์ความรู้ คือ กลุ่มกาแฟและชาผลไม้ จังหวัดสตูล ซึ่งประสานงานโดย ศาสตราจารย์ ดร.สมยศ ทุ่งหว้า ซึ่งเป็นประธานกลุ่มกาแฟของจังหวัดสตูลอบรมไปแล้วเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2564 และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการติดตามและขยายผล กลุ่มผลิตผลทางการเกษตรนาหม่อม จังหวัดสงขลา ซึ่งจะอบรมการทำขนมอบแห้ง การแปรรูปผักผลไม้โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมอบรม 30 คน  และ กลุ่มสมุนไพรจังหวัดพัทลุง เป็นการอบแห้งพืชสมุนไพรเพื่อเก็บไว้ใช้งานซึ่งจะจัดอบรมปลายเดือนมกราคมนี้ 



    ชมรมรักษ์ ม.อ. เป็นชมรมจิตอาสาของผู้ที่เกษียณอายุจากการทำงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อนำพลังของผู้เกษียณอายุที่ยังมีความพร้อมในการทำงาน เพื่อร่วมส่งเสริมสนับสนุนกิจการของมหาวิทยาลัย การให้คำปรึกษากิจกรรมต่างๆ รวมทั้งเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตตลอดจนการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างสมาชิก และระหว่างมหาวิทยาลัยกับสมาชิกโดยไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เป็นการนำความเชื่อมโยงและพลังจากผู้เกษียณเพื่อช่วยเสริมสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย ภายใต้แนวคิด "ชมรมรักษ์ ม.อ. ถักทอความสัมพันธ์ รังสรรค์คุณภาพชีวิต" ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 1 พันคน