อุษา จันทร์สุทธิ์ คณะพยาบาล ม.อ. รับเหรียญเงิน จาก วช. “ที่นอนรังนกยางพาราสำหรับทารกเกิดก่อนกำหนด”
นางสาวอุษา จันทร์สุทธิ์ นักศึกษาปริญญาโท คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รับรางวัลเหรียญเงิน จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 (Thailand Research Expo 2021) ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพมหานคร ผลงาน“นวัตกรรมที่นอนรังนกยางพาราสำหรับทารกเกิดก่อนกำหนด” ส่งผลดีต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของทารก ลดค่าใช้จ่าย ลดการใช้ผ้าอ้อมและลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ และช่วยเพิ่มมูลค่าของยางพารา
นางสาวอุษา จันทร์สุทธิ์ พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในหออภิบาลทารกแรกเกิด โรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เปิดเผยถึงผลงาน ที่นอนรังนก (Nest) ว่าเป็นนวัตกรรมที่นอนที่ผลิตขึ้นมา ที่มีลักษณะรูปร่างเป็นวง มีขอบแขนล้อมรอบคล้ายรังนก เป็นนวัตกรรมที่จำลองสิ่งแวดล้อมที่มีลักษณะคล้ายครรภ์มารดา เมื่อทารกเกิดก่อนกำหนดนอนในที่นอนรังนกจะรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย เสมือนอยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งจะส่งผลให้ทารกมีอุณหภูมิกายปกติ คุณภาพการนอนหลับดีขึ้น
ปัจจุบันที่นอนรังนกที่ใช้อยู่ปัจจุบันผลิตขึ้นจากผ้าอ้อมและทำด้วยมือ ทำให้ที่นอนรังนกผ้าอ้อมไม่ได้มาตรฐาน ไม่แข็งแรงหลุดออกง่าย จึงไม่สามารถประคับประคองตัวทารกไว้ได้ ทารกเกิดอาการสะดุ้งและผวาได้ง่าย ทำให้ทารกพักหลับได้น้อยลง ซึ่งจะส่งผลให้ทารกเกิดก่อนกำหนดมีพัฒนาการและการเจริญเติบโตล่าช้าได้ อีกทั้งยังสิ้นเปลืองงบประมาณในการผลิต จากปัญหาดังกล่าวเป็นแรงจูงใจในการสร้างนวัตกรรมที่นอนรังนกยางพาราสำหรับทารกเกิดก่อนกำหนด
โดยมีอาจารย์ผู้ให้คำปรึกษางานวิจัย ประกอบด้วย รศ. ดร.บุษกร พันธ์เมธาฤทธิ์ ผศ. ดร.วันธณี วิรุฬห์พานิช อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รศ.ดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณี ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
นางสาวอุษา จันทร์สุทธิ์ เปิดเผยว่า จากการเก็บข้อมูลในหออภิบาลทารกแรกเกิดและหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤตทารกแรกเกิด เป็นเวลา 11 เดือน ระหว่าง กันยายน 2563 – กรกฏาคม 2564 พบว่า ที่นอนรังนกยางพาราช่วยให้การนอนดีขึ้น ส่งผลดีต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโต อัตราการหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจและระดับออกซิเจนในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ก่อให้เกิดการแพ้ ระคายเคืองต่อผิวหนังทารกแรกเกิด ลดแรงกดทับ ป้องกันการเกิดอันตรายกับผิวหนัง และยังทำความสะอาดง่าย พร้อมใช้ได้ทันที อายุการใช้งานนาน ลดปริมาณการใช้ผ้าอ้อม ลดค่าใช้จ่ายในหน่วยงาน และลดภาระงานของบุคลากร ความพึงพอใจของพยาบาลในการนำที่นอนรังนกยางพาราหลังการใช้งานอยู่ในระดับสูง
ในอนาคต คาดว่าจะมีการวางแผนจำหน่ายให้กับหน่วยงานที่ต้องดูแลทารกเกิดก่อนกำหนดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ