ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.อ. เป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมจิตอาสาภาคใต้ ครั้งที่ 4 “มหาวิทยาลัยสู่ชุมชนฝ่าวิกฤติโควิด”




    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมจิตอาสาภาคใต้ครั้งที่ 4 ภายในหัวข้อ “มหาวิทยาลัยสู่ชุมชนฝ่าวิกฤติโควิด” ในวันที่ 24 ธันวาคม 2564 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษา เครือข่ายองค์กรอาสาสมัครและชุมชน ในการพัฒนางานอาสาสมัครเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่ภาคใต้ โดย ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานเปิดกิจกรรม ร่วมด้วย ผศ. สุพจน์ โกวิทยา รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ ผศ. ดร.นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายส่งเสริมจิตสาธารณะและการพัฒนาที่ยั่งยืน และทีมงานอาสาสมัครทั้ง 5 วิทยาเขต



กิจกรรมในงาน มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานชุมชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเองและสังคม โดยตัวแทนอาสาสมัคร การเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ท่องเที่ยวชุมชนและเศรษฐกิจชุมชน จากวิทยาเขตหาดใหญ่ การพัฒนาข้าวแบบครบวงจร โดยวิทยาเขตตรัง การพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมชุมชน โดยวิทยาเขตภูเก็ต แหล่งเรียนรู้ชุมชน โดย สถาบันสันติศึกษา รวมทั้งบทบาทการทำงานอาสาสมัครในสถานการณ์โควิด และผู้นำเยาวชนจิตอาสาภาคใต้กับบทบาทการพัฒนาเพื่อชุมชน



    ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ดำเนินการตามพระราชปณิธาน ของสมเด็จพระบรมราชชนกโดยมีศูนย์จิตอาสา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก เพื่อบ่มเพาะนักศึกษาและบุคลากรให้มีจิตอาสาดูแลสังคม สำหรับโครงการ U2T หรือ โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน ถือว่าเป็นโครงการที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รับผิดชอบมากกว่า 3,000 ตำบล โดยที่ผ่านมามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์รับผิดชอบ 12 จังหวัด 90 ตำบลในภาคใต้ร่วมกับเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมีงบประมาณสนับสนุนอย่างเป็นระบบจึงเข้าถึงพื้นที่โดยทั่วถึงที่ทำงานร่วมกับพี่น้องประชาชนในท้องถิ่น โดยมีนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่าจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ประมาณ 1,600 คนเป็นจิตอาสา จึงเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ทั้งในเชิงของการเรียนรู้ สร้างโอกาสและประสบการณ์ใหม่เพื่อประกอบอาชีพ สร้างฐานข้อมูล สร้างชุมชนเข้มแข็งให้กับท้องถิ่นด้วย



ทางด้าน ผศ. ดร.นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายส่งเสริมจิตสาธารณะและการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปีนี้ศูนย์อาสาสมัคร ม.อ. ดูแล 8 ตำบลจาก 90 ตำบลในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งมีสถาบันต่างๆ ร่วมดำเนินการด้วย 



    สำหรับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีผู้ร่วมโครงการประมาณ 200 คน ประกอบด้วย นักศึกษา อาจารย์ที่ปรึกษา นักวิจัย และศิษย์เก่าที่มีส่วนร่วมสนับสนุน ช่วยยกระดับการท่องเที่ยว การแปรรูปสินค้า การขยายผลการตลาดออนไลน์ซึ่งคนรุ่นใหม่เข้าไปช่วยส่งเสริมเรื่องการประชาสัมพันธ์บรรจุภัณฑ์ และการขยายตลาดที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนั้นตลอดระยะที่จิตอาสาได้ลงพื้นที่ดูแลชุมชนจึงเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเห็นได้ชัดเจนแม้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด