ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.อ.ปัตตานี ใช้โซลาร์เซลล์ พลังงานทางเลือกและสมาร์ทมิเตอร์ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน




    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ใช้โซลาร์เซลล์ พลังงานทางเลือกและสมาร์ทมิเตอร์ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมการเป็นวิทยาเขตสีเขียวที่ช่วยลดการใช้พลังงาน ลดการสร้างมลพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม



    ผศ. ดร.อัตชัย เอื้ออนันตสันต์ รองอธิการบดีฝ่ายระบบสารสนเทศและวางแผน วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ 690 ไร่ มีประชากรรวมประมาณ 10,000 คน ทำให้มีการใช้ปริมาณทรัพยากรที่สูงโดยเฉพาะการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มีค่าใช้จ่ายถึงปีละประมาณ 42 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละประมาณ 3,500,000 บาท จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยส่งเสริมการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว ซึ่งได้เริ่มมีการใช้พลังงานทดแทน ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน โดยการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ในการดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวนทั้งสิ้น 2,500 แผง ขนาดรวมทั้งสิ้น 800 กิโลวัตต์ ในพื้นที่ของวิทยาเขตปัตตานี พร้อมการติดตั้งระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานไฟฟ้าชนิด Lithium-Ion ขนาดกำลังไฟฟ้า 50 กิโลวัตต์ ความจุพลังงานไฟฟ้าสูงสุด 500 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายทางไฟฟ้าภายในมหาวิทยาลัย และเสริมคุณค่าทางด้านพลังงานจากการใช้เป็นระบบผลิตสำรองในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน แก่วิทยาเขตปัตตานี และชุมชนโดยรอบหากมีความต้องการ

    อีกทั้ง ระบบกักเก็บพลังงานมีไว้เพื่อใช้กับศูนย์บริการสุขภาพปฐมภูมิ ของคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อที่จะสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ในกรณีเกิดปัญหากับระบบไฟฟ้าหลัก ปัจจุบันมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ บนหลังคาอาคารภายในมหาวิทยาลัย ได้แก่ อาคารเรียนรวม 19 ติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 840 แผง, อาคารเรียนรวม 58 ติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 780 แผง, อาคารเรียนและปฏิบัติการคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาเขตปัตตานี ติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 160 แผง และอาคารสำนักวิทยบริการ ติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวน 720 แผง จากผลการใช้พลังงานทดแทนดังกล่าว สามารถลดการใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ปีละกว่าสองล้านสามแสนห้าหมื่นกิโลวัตต่อชั่วโมง หรือโดยเฉลี่ยลดลงเดือนละ เกือบสองแสนกิโลวัตต่อชั่วโมง สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยประมาณเดือนละเจ็ดแสนบาท หรือประหยัดค่าใช้จ่ายค่ากระแสไฟฟ้าได้ถึงปีละแปดล้านสี่แสนบาท เหตุผลอีกประการหนึ่ง เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้จำนวนบุคลากรและนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยมีจำนวนลดลง จึงมีการใช้ไฟฟ้าลดลงมากกว่าปกติ

    รองอธิการบดีฝ่ายระบบสารสนเทศและวางแผน วิทยาเขตปัตตานี กล่าวเพิ่มเติมว่า วิทยาเขตปัตตานี ได้ติดตั้งระบบ Smart Energy Meter ด้วยการการติดตั้ง digital meter โดยเชื่อมต่อกับระบบเครือข่าย และสร้างระบบ Smart Monitor เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถดูข้อมูลต่าง ๆ ทางไฟฟ้าได้ในแบบ Real-time โดยได้ดำเนินการติดตั้งระบบ smart meter ตามอาคารต่างๆ เพื่อติดตามและประเมินผลปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าของบุคลากรและนักศึกษา จำนวน 73 เครื่อง ซึ่งระบบสามารถแสดงผลการอ่านข้อมูลมิเตอร์วัดพลังงานไฟฟ้าทุกๆ 15 นาที โดยระบบจะแสดงข้อมูลการใช้พลังงานไฟฟ้าของ smart meter แต่ละเครื่อง ทำให้หน่วยงานในมหาวิทยาลัยได้ทราบถึงปริมาณการใช้ไฟฟ้า เกิดความตระหนักถึงการใช้พลังงานไฟฟ้า อันนำไปสู่นโยบายการลดการใช้พลังงานไฟฟ้าของทุกคณะ หน่วยงานได้อย่างชัดเจน