ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.อ. ถอดบทเรียน รับมือวิกฤตโควิด-19 ภาคใต้ตอนบน เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจไปด้วยกัน




มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสำนักวิจัยและพัฒนา จัดกิจกรรมเสวนาถอดบทเรียน การบริหารจัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านเฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/psuconnext/
เพื่อร่วมหาวิธีรับมือโควิด-19 ในจังหวัดภาคใต้ตอนบน โดยระดมสมอง สาธารณสุขจังหวัด หอการค้า นักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่มีบทบาทรับมือ และร่วมฟื้นฟู เพื่อนำร่องการท่องเที่ยว และเป็นการเรียนรู้จากต้นแบบ สมุยพลัสโมเดล เพื่อถ่ายทอดบทเรียน นำไปสู่ความร่วมมือ ระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชุมชน ธุรกิจ และอุตสาหกรรม สู่ความสำเร็จ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ



ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ศาสตราจารย์นายแพทย์วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ สาขาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายแพทย์วีระศักดิ์ หล่อทองคำ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต นายแพทย์ทรงยศ ชญานินปรเมศ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกาะสมุย อำเภอเกาะสมุย สุราษฎร์ธานี ดร.ภาณุพงศ์ พุทธรักษ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินรายการ โดยมีศาสตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา นายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดกิจกรรมการเสวนา 

และการเสวนาของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด กระบี่ พังงา ระนอง สุราษฎร์ และตรัง หอการค้าจังหวัด พังงา ระนอง และตรัง และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ YEC (Young Enterpreneur chamber of commerce) จังหวัด กระบี่ และสุราษฎร์ ดำเนินรายการ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงศกร พิชยดนย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตตรัง



ศาสตราจารย์นายแพทย์วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ป่วยทั่วโลก อัตราการเสียชีวิตลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากได้รับวัคซีน โดยที่สหรัฐอเมริกา ติดเชื้อ 48 ล้านคน สหราชอาณาจักร ติดเชื้อ 9 ล้านคน และเยอรมันการติดเชื้อครั้งใหม่รุนแรง แต่อัตราการเสียชีวิตลดลงมาก เนื่องจากการฉีดวัคซีนครอบคลุมเกิน 80 % ของประชากร คนที่ติดเชื้อแล้วเสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีน ประเทศไทยก็มีอัตราการเสียชีวิตน้อยลงเช่นเดียวกับ มาเลเซีย เวียดนาม อินเดีย และอินโดนีเซีย วัคซีนไม่ช่วยลดการระบาดแต่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิต ขณะนี้ทุกจังหวัดของไทยอัตราการเสียชีวิตลดลงแล้ว เราเน้นการฉีดวัคซีน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ

นายแพทย์ทรงยศ ชญานินปรเมศ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกาะสมุย อำเภอเกาะสมุย สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า สาธารณสุขต้องอยู่ได้กับการท่องเที่ยว และมีการเตรียมพร้อมที่ดี วางมาตรการในการเปิดประเทศ โดยเร่งฉีดวัคซีนตั้งแต่เมษายน 2564 การเปิดเมืองเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการโรงแรม ร้านค้า ตลาดนัดเริ่มฟื้นตัว เราได้เตรียมความพร้อมและพัฒนาด้วยระบบสาธารณสุขยั่งยืนเพียงพอต่อคนในท้องถิ่น ความสำเร็จวัดจากจำนวนนักท่องเที่ยว และจำนวนวันที่เข้าพัก 

    นายแพทย์วีระศักดิ์ หล่อทองคำ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และอดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ได้มีการปรึกษาทีมงาน เพื่อหาแนวทางฟื้นฟู เนื่องจากเศรษฐกิจจังหวัดภูเก็ตเป็นเศรษฐกิจแบบศาลพระภูมิ คือมีเสาเดียว พึ่งพาการท่องเที่ยว ทุกคนปักธงว่า ทำอย่างไรถึงจะเปิดการท่องเที่ยวได้ สมุย กับภูเก็ต เปิดเมืองเป็นอันดับต้นๆของประเทศ สมุยได้รับวัคซีน สัดส่วนเช่นเดียวกับภูเก็ต เปีนกุญแจไปสู่ความสำเร็จ ด้วยการฉีดวัคซีน และการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา 

    นายจรุงศักดิ์ สุรัฐชนานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การรับมือวิกฤตโควิด-19 เน้นการดูแลสุขภาพอนามัย ดูแลคนในพื้นที่ เศรษฐกิจจะฟื้นตัว รวมทั้งการสร้างเครือข่ายเกษตรยั่งยืนเพื่อการพัฒนาการเกษตร 

นายธีระพล ชลิศราพงศ์ ประธานหอการค้าระนอง กล่าวว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของจังหวัดระนอง ต้องแก้ปัญหาการค้าชายแดน จากการปิดประเทศ ทำให้เกิดการค้าขาย โครงการคนละครึ่ง ของรัฐบาลทำให้เกิดกำลังซื้อ กำลังการผลิต 
 
น.ส.ธนิตา เรืองสงค์ ประธานนักธุรกิจรุ่นใหม่ กระบี่ กล่าวว่า จังหวัดกระบี่ นักธุรกิจ เกิดปัญหาสภาพคล่อง การประชุม ครม.สัญจร ก็ได้เกิดกองทุนส่งเสริมสภาพคล่อง แก่กลุ่มเปราะบางด้านการท่องเที่ยว ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และผู้ประกอบการได้ร่วมจับคู่ทางธุรกิจกับเมียนมาร์

นายกสิณ ไลยโฆษิต ประธานนักธุรกิจรุนใหม่ YEC หอการค้า จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ได้มีการร่วมมือกัน ในการจัดหาวัคซีนเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้รับวัคซีน เพื่อลดการแพร่ระบาดและ ลดอัตราการเสียชีวิต พร้อมทั้งได้จัดตั้งทีมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อรับมือวิกฤตโควิด-19 ให้ได้ 

    ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิทัศน์ เพราแก้ว ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพันธกิจเพื่อสังคม วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับแต่งตั้งเป็นจังหวัดไมซ์ซิตี้ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ได้รับมอบหมายให้จัดทำแผนการท่องเที่ยวหมู่เกาะทะเลใต้ โดยประสานงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การพัฒนาการท่องเที่ยว หมู่เกาะทะเลใต้ ประกอบด้วย เกาะสมุย เกาะเต่า เกาะพงัน ในระยะ 5ปี