ข่าวชาวสงขลานครินทร์

อธิการบดี ม.อ. กับการสร้างคุณค่ามหาวิทยาลัยให้เป็นที่ยอมรับและก้าวต่อไปอย่างเข้มแข็ง




    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รายงานสถานภาพปัจจุบันและการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 โดยกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีผลกระทบต่อรูปแบบการเรียนรู้การสอน ซึ่งเป็นวิกฤติที่สร้างโอกาสของการเปลี่ยนแปลง และการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยสู่กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก (Global & Frontier Research) โดยใช้หลักการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนและฐานทรัพยากรสำคัญของภาคใต้ภายใต้การบูรณาการศาสตร์ทุกศาสตร์เพื่อความสำเร็จ 



    อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า นับแต่การเข้าดำรงตำแหน่งผู้บริหารเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานและรูปแบบการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หลายเรื่อง เช่นการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล การแข่งขันที่รุนแรง ความเหลื่อมล้ำ การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และการระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 ที่มีผลกระทบต่อสภาพร่างกายและจิตใจ สิ่งเหล่านี้แม้เป็นวิกฤตที่เกิดทั่วโลกแต่ก็เป็นโอกาสของมหาวิทยาลัยที่จะปรับตัวเพื่อรับการเติบโตในอนาคต ทั้งรูปแบบการเรียนการสอน การบริหารจัดการ การทำงานโดยการผสมผสานหลายศาสตร์ และอีกด้านหนึ่งคือเป็นการพิสูจน์การทำภาระหน้าที่ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยและเครือข่ายที่มุ่งทำประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์เพื่อรับมือและสู้วิกฤติที่เกิดขึ้น เช่น การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ศูนย์ฉีดวัคซีนเพื่อบริการบุคลากร นักศึกษา และประชาชนในทุกวิทยาเขต มีการศึกษาวิจัยและให้ข้อมูลกับหน่วยงานและประชาชน

    ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมตลอดเวลาหลายปี ทำให้มีเยาวชนส่วนหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ขาดความพร้อมในการเรียนออนไลน์ ซึ่งมหาวิทยาลัยร่วมกับสมาคมศิษย์เก่า และเครือข่ายผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศ ได้จัด “โครงการ ไอทีพี่ช่วยน้องเรียนออนไลน์” โดยได้มอบอุปกรณ์การเรียนออนไลน์จำนวน 250 เครื่อง ให้แก่โรงเรียน 23 โรงเรียนในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ เพื่อลดปัญหาดังกล่าว รวมทั้งได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยจัดตั้งกลุ่มการตลาดออนไลน์ PSU Bazaar Learning Margetplace เป็นการขายสินค้าและบริการโดยผ่านพื้นที่ออนไลน์ โดยไม่คิดค่าบริการ มีการดูแลคุณภาพ และมีสมาชิก 75,000 คน มีผู้จำหน่ายสินค้าประมาณ 10,000 ราย คิดเป็นมูลค่าเดือนละกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นการร่วมดูแลสังคมให้ผ่านวิกฤตไปด้วยกัน



    ในการปรับตัวสู่โลกอนาคต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้รับความเห็นชอบให้เข้าอยู่กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก หรือ Global & Frontier Research ซึ่งเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยที่เน้นการสร้างความรู้ระดับสูง ซึ่งจะเป็นหมุดหมายที่สำคัญของมหาวิทยาลัยที่จะดำเนินการเพื่อพลิกโฉมในวันข้างหน้า 

    ในการดำเนินการเพื่อพลิกโฉมนั้น มหาวิทยาลัยยังคงทำหน้าที่หลักในการผลิตบัณฑิต การสร้างองค์ความรู้ การดูแลพื้นที่ การบริการวิชาการ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม แต่จะมีการมุ่งสร้างจุดเน้นในด้านเกษตร อาหาร การแพทย์ โดยใช้การบูรณาการของศาสตร์ทั้ง 3 สาขา คือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ และมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และเป็นการทำงานร่วมกันทั้ง 5 วิทยาเขต ซึ่งจะมีโจทย์ที่มีความท้าทายต่างกันตามสภาพพื้นที่ โดยใช้ BCG หรือการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนเป็นหลักในการดำเนินการ และอาศัยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรสำคัญของภาคใต้ คือความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล ความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่ผสมผสานเอกลักษณ์ของวิถีชีวิตในภาคใต้เป็นต้นทุนสำคัญ ซึ่งสอดรับกับการตั้งสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสามารถบูรณาการศาสตร์ต่างๆ 

    จากความพร้อมของศาสตร์ นักวิจัย และเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็ง รวมถึงการนำวิชาการเข้าไปเสริมเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ จะส่งผลให้กับการปรับรูปแบบการเรียนรู้ และการทำงานร่วมกันของทั้ง 5 วิทยาเขตประสบความสำเร็จ ทำให้เกิดอาชีพ เกิดโอกาสใหม่ๆ และเกิดองค์ความรู้ที่แท้จริง ซึ่งจะส่งผลให้สังคมในพื้นที่และสังคมโลกได้มองเห็นความเชี่ยวชาญ ความสำคัญ พลัง และคุณค่าของมหาวิทยาลัยมากขึ้น และนำไปสู่การจัดระเบียบภายใน การพัฒนากำลังคน การมีโครงการขนาดใหญ่ที่มีการบูรณาการร่วมกันเพื่อประโยชน์ของแต่ละพื้นที่ เช่น ศูนย์สุขภาพอันดามัน ทุ่งไสไช อุทยานวิทยาศาสตร์ ย่านตาขาวโมเดล โครงการวงแหวนวัฒนธรรม เป็นต้น ซึ่งมหาวิทยาลัยต้องมีทิศทางที่ชัดขึ้น และมีการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย รวมทั้งการจัดหาแหล่งทุนจากภายในและนอกประเทศ 



    มหาวิทยาลัยมุ่งใช้ความเป็นนานาชาติในการเชื่อมต่อกับสถาบันที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศโดยเฉพาะในประชาคมอาเซียน เช่น ประเทศอินโดนีเซียซึ่งมีศักยภาพสูงและมีความสัมพันธ์อันดีกับมหาวิทยาลัยและประเทศไทย ซึ่งมีหลายคณะได้มีความร่วมมือทางวิชาการอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังมีเครือข่ายอื่นๆอยู่ในทุกภูมิภาคของโลก ซึ่งเราจะจัดทำยุทธศาสตร์ให้ชัดขึ้น นอกจากนั้นยังใช้ความเชี่ยวชาญด้านอาหาร “ฮาลาล” มาเป็นส่วนหนึ่งของตัวเชื่อมบทบาทในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและความเข้าใจในวิถีมุสลิม และการเชื่อมต่อระหว่างประเทศมุสลิมเช่นมาเลเซีย อินโดนีเซีย และในตะวันออกกลาง 

    “คุณค่าของมหาวิทยาลัยอยู่ที่การสร้างประโยชน์ให้กับท้องถิ่นและประเทศ สร้างความเข้มแข็งความเชี่ยวชาญในสิ่งที่เรามี และสิ่งที่เราทำได้ ในจุดที่จะมีการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สร้างคนดีมีคุณภาพให้สังคมและการคำนึงถึงประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์มากกว่าประโยชน์ส่วนตน ซึ่งพลังเหล่านี้จะส่งผลให้สงขลานครินทร์มีคุณค่า มีความหมาย และเติบโตอย่างเข้มแข็งต่อไป” อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าว