ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.อ.ตรัง เล็งสร้างพื้นที่สีเขียว พัฒนาวิทยาเขตให้เป็น Wellness Campus




    รองศาสตราจารย์ ดร.อุดมผล พืชน์ไพบูลย์ กล่าวถึงนโยบายด้านการพัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ตามแนวทางและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) และแนวคิดในการพัฒนาให้สอดคล้องกับนโยบายเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ โดยมีแผนพัฒนาให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง เป็นวิทยาเขตสุขภาพ หรือ Wellness Campus ซึ่งคำว่า Wellness หมายถึง ความเป็นอยู่ที่ดี สุขภาพที่ดี โดยองค์ประกอบจะเกี่ยวข้องกับหลายส่วน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ให้น่าอยู่ขึ้น โดยการปลูกต้นไม้ ทั้งไม้ดอก ไม้ยืนต้น รวมถึงไม้ป่าที่หาได้เฉพาะในท้องถิ่น



    รองอธิการบดีวิทยาเขตตรัง ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการดูแลเรื่องสุขภาพ เนื่องจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง มีทรัพยากรที่พร้อม มีองค์ความรู้ที่ดี สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้คนข้างนอกสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ ความพร้อมในด้านของศูนย์กีฬา เครื่องออกกำลังกาย สระว่ายน้ำ สนามกีฬา พร้อมใช้งาน และเราก็จะพยายามพัฒนาพื้นที่ต่อให้สามารถรองรับกีฬาอย่างอื่นได้เช่น เครื่องวิ่ง ปั่นจักรยาน ออกกำลังกายในสวนสุขภาพ เป็นต้น

    รองศาสตราจารย์ ดร.อุดมผล กล่าวว่า พื้นที่ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง มีพันธุ์ไม้จำนวนมาก อีกทั้งยังมีพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เป็นพื้นที่ดูแลต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง โดยมีอาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้เข้าไปทำฐานข้อมูล ซึ่งจะมีข้อมูลของสายพันธุ์ และจำนวนของพืชต่างๆ ที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยได้เคยหารือกับองค์การบริหารส่วนตำบลควนปริง ซึ่งเป็นหน่วยงานในท้องถิ่น ถึงแนวคิดในการทำทางเดินธรรมชาติ โดยสร้างทางเดินในลักษณะที่เดินเข้าไปแล้วไม่ไปกระทบกับหม้อข้าวหม้อแกงลิง และเปิดโอกาสให้เยาวชนสามารถเข้าไปศึกษาได้ โดยจะมีป้ายบอกชนิดและสายพันธุ์ของต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง ซึ่งจะพยายามอนุรักษ์ไว้ และส่วนนี้ก็เป็นแนวคิดที่เราพยายามจะสร้างป่าในเมืองให้เกิดขึ้นในวิทยาเขตตรัง

    การดำเนินการในการเข้าเป็น Wellness Campus ของวิทยาเขตตรัง ที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมในตอนนี้คือผลงานของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่เราได้มี Universal Design Center หรือ UDC เพื่อเป็นศูนย์ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนา หรือปรับปรุงบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับสังคมสูงวัยให้มีความเหมาะสม รวมทั้งเป็นปรึกษาด้านการออกแบบบ้านทั่วไปด้วย

    รองศาสตราจารย์ ดร.อุดมผล ยังกล่าวถึงแผนการปรับสภาพภูมิทัศน์ของวิทยาเขตในอนาคต กว่า วิทยาเขตตรังมีต้นไม้จำนวนมากแต่ยังขาดการจัดการที่เป็นระบบ ซึ่งได้เสนอแนวทางเพื่อจะปรับสภาพภูมิทัศน์ของวิทยาเขตไปยังมหาวิทยาลัยแล้ว โดยจะเพิ่มความสวยงามในเรื่องต้นไม้ โดยจะเน้นพันธุ์ไม้พื้นเมืองที่เป็นไม้พุ่ม ไม้ดอกไม้ยืนต้น และสิ่งสำคัญก็คือต้นไม้ที่เป็นไม้ป่าตามธรรมชาติ และมีแนวคิดในการปรับถนนรอบวิทยาเขต ให้เป็นถนนที่สามารถวิ่ง ปั่น และออกกำลังกายได้ โดยได้มีการหารือร่วมกับวิทยาลัยการสาธารณสุขจังหวัดตรังและวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ตรัง เกี่ยวกับองค์ความรู้ทางด้านการดูแลสุขภาพ ให้สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากสถานที่ของเราในการเป็นแหล่งสำหรับฝึกอบรม เป็นแหล่งเรียนรู้ หรือการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างคุ้มค่าและเกิดผลประโยชน์มากที่สุด

    นอกจากนั้น ยังวางแนวคิดในการนำเอาพลังงานจากธรรมชาติมาให้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีแนวคิดเกี่ยวกับการใช้รถไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานโซล่าเซลล์ ซึ่งมีแผนจะปรับปรุงพื้นที่บริเวณศูนย์ประชุมฯ ในการเป็นแหล่งพลังงานจากโซลาเซลล์ ซึ่งหากใช้รถไฟฟ้าภายในวิทยาเขตก็สามารถเข้าจอดหรือเข้าเติมพลังงานได้จากสถานที่นั้น ซึ่งคิดว่าจะทำให้เป็นต้นแบบที่จะเป็นแนวทางในการที่เราสามารถประหยัดพลังงานได้ ส่วนเรื่องการบริหารจัดการของเสียภายในวิทยาเขตตรัง ได้ดำเนินการโครงการคัดแยกขยะและบริหารจัดการขยะเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์มากขึ้น เช่น การคัดแยกขยะ สิ่งที่สามารถขายต่อได้ก็นำไปขายทำให้เกิดรายได้เข้าวิทยาเขต และได้รณรงค์ให้มีการลดการใช้ทรัพยากรกระดาษด้วย

    “การดำเนินการ Wellness Campus ทุกคนได้รับประโยชน์หมด เพราะจะเป็นวิทยาเขตที่มีความสุขสุขภาพดี ประโยชน์ที่ได้จะได้ไปในทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนการสอนไปสู่เรื่องการพัฒนาคน พัฒนาชุมชน และการพัฒนาสังคมโดยรวม อันนี้จะเป็นสิ่งที่เราคาดหวังจะให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นทุกคนทุกองค์กรจะได้ประโยชน์ทั้งหมด” รองอธิการบดีวิทยาเขตตรัง กล่าวทิ้งท้าย