ข่าวชาวสงขลานครินทร์

24 พ.ย. 64 ม.อ. เชิญร่วมถอดบทเรียน การจัดการการแพร่ระบาดโควิด-19 ภาคใต้ตอนบน พร้อมถ่ายทอดเรื่องราว สมุยพลัสโมเดล




    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระดมสมองนักระบาดวิทยา นายแพทย์สาธารณสุข นักธุรกิจผู้ประกอบการ ของจังหวัดภาคใต้ตอนบน เสวนา ถอดบทเรียน การบริหารจัดการการแพร่ระบาดโควิด-19 ในภาคใต้ตอนบน พร้อมถ่ายทอดเรื่องราว สมุยพลัสโมเดล ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 เวลา 08.40 -12.00 น. พร้อมถ่ายทอดสดผ่านเพจ https://www.facebook.com/psuconnext/ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ถ่ายทอดสู่ประชาคม พร้อมหาแนวทางร่วมกัน

    การถ่ายทอดเริ่มเวลา 08.40 น. เป็นการเสวนาสถานการณ์โควิด-19 ของโลก ประเทศไทย และจังหวัดภาคใต้ตอนบน  พร้อมถ่ายทอดเรื่องราว สมุยพลัสโมเดล วิทยากรประกอบด้วย ศาสตราจารย์นายแพทย์วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ สาขาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายแพทย์วีระศักดิ์ หล่อทองคำ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต นายแพทย์ทรงยศ ชญานินปรเมศ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกาะสมุย อำเภอเกาะสมุย สุราษฎร์ธานี ผู้ดำเนินรายการ รองศาสตราจารย์ ดร.ภาณุพงศ์ พุทธรักษ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

    จากนั้นเวลา 10.00 น. เป็นการเสวนา ของนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหรือตัวแทน จังหวัด กระบี่ พังงา ระนอง สุราษฎร์ และตรัง ตัวแทนหอการค้าจังหวัด พังงา ระนอง และตรัง และตัวแทนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ YEC (Young Enterpreneur chamber of commerce) จังหวัด กระบี่ และสุราษฎร์ ดำเนินรายการ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงศกร พิชยดนย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

    โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา นายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้บริหาร อาจารย์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ตัวแทนภาครัฐ และภาคเอกชน ในจังหวัดภาคใต้ตอนบน ร่วมเสวนา 

    นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม 2562 สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ได้ทวีความรุนแรงจนกลายเป็นวิกฤติสาธารณสุขระดับโลก ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสภาวะทางสุขภาพของประชากรโลก รวมไปถึงระบบเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนวิถีการดำรงชีวิตอย่างกว้างขวาง นับจนถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 มีรายงานประชากรโลกได้รับเชื้อไวรัสโคโรนาอย่างเป็นทางการแล้วไม่น้อยกว่า 252 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5 ล้านคน โดยในประเทศไทยมีการติดเชื้อ 1.99 ล้านคน มีผู้เสียชีวิต 19,826 คน นับตั้งแต่ปี 2563 

  กำหนดการเสวนา.pdf