ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.อ. คิดค้นกรวยยางธรรมชาติอุดรูระเบิด งานวิศวกรรมเหมืองแร่




    นักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คิดค้นกรวยยางธรรมชาติอุดรูระเบิด ในงานวิศวกรรมเหมืองแร่ เพิ่มประสิทธิภาพการระเบิดหิน ลดต้นทุนการผลิต ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชนะเลิศการประกวดด้านยางพารา โครงการ Natural Rubber Startup Acceleration Program: Batch 1 by RAOT and PSU จัดโดย การยางแห่งประเทศไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รางวัลรองชนะเลิศ การประกวดนวัตกรรมด้านยางพารา จัดโดย การยางแห่งประเทศไทย และรางวัลรองชนะเลิศ การประกวดนวัตกรรมสงขลานครินทร์ จัดโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โครงการวิจัยดังกล่าว เกิดจากการรวมกลุ่มของนักวิจัยด้านเทคโนโลยียางและนักวิจัยด้านวิศวกรรมเหมืองแร่ ได้รับการจดสิทธิบัตร และเอกชนนำไปต่อยอดผลิตใช้ในอุตสาหกรรม



    กรวยยางธรรมชาติอุดรูระเบิดเป็นนวัตกรรมที่เกิดจากแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้ามอุตสาหกรรม แปรรูปขึ้นจากยางธรรมชาติที่มีความยืดหยุ่นสูง ลักษณะรูปทรงกรวยใช้อุดปากหลุมรูระเบิดสำหรับการระเบิดหินเชิงวิศวกรรม สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการระเบิดและลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการระเบิดหิน โดยกรวยยางธรรมชาติที่อุดอยู่ในปากรูระเบิดจะช่วยป้องกันไม่ให้แก๊สที่เกิดจากปฏิกิริยาการระเบิดหลุดรั่วออกจากปากรูระเบิด เป็นผลให้สามารถลดแรงระเบิดที่พุ่งขึ้นด้านบนและควบคุมทิศทางการระเบิดได้ เป็นผลให้ได้หินขนาดเล็กลงสูงสุดถึง 40% ซึ่งการที่ได้หินขนาดเล็กหรือมีหินขนาดใหญ่ปนอยู่น้อย จะทำให้ประหยัดต้นทุนด้านพลังงานและเวลาในการบดย่อยหินในขั้นตอนต่อไป



    นอกจากนี้การใช้กรวยยางธรรมชาติอุดรูระเบิดยังช่วยลดแรงสั่นสะเทือน ลงได้สูงสุด 48% ซึ่งปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านแรงสั่นสะเทือนนี้ถือเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งในการทำเหมืองหิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหมืองที่มีพื้นที่ใกล้เคียงกับแหล่งชุมชน แหล่งท่องเที่ยว และโบราณสถาน เป็นต้น ปัจจุบันมีการทดสอบใช้งานในเหมืองหินประเภทต่างๆ จำนวน 10 แหล่งหิน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ผลิตและจัดจำหน่ายโดยบริษัท อิสระ โกลบอล เทคโนโลยี แอนด์ เซอร์วิส จำกัด



    รองศาสตราจารย์ ดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าโครงการวิจัยดังกล่าวเกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันของนักวิจัยจากค่าย นวัตกรยางพารา (Rubber Innovator Camp) โดยสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา ซึ่งจัดขึ้นเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2561 ณ โรงแรมดีวาน่า พลาซ่า อ่าวนาง จังหวัดกระบี่ กิจกรรมในค่ายนวัตกรยางพารามุ่งเน้นให้นักวิจัยด้านยางพาราและนักวิจัยศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อให้เกิดความคิดริเริ่มและเกิดแรงบันดาลใจในการทำงานวิจัย และยังเป็นการรวมกลุ่มของนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีความสนใจทำงานเชิงนวัตกรรมแบบบูรณาการ รวมถึงการนําผลงานวิจัยนําไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงหรือมีการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักวิจัยมีโอกาสสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านงานวิจัยและสร้างโจทย์วิจัยร่วมกัน



    จากการดำเนินโครงการดังกล่าวเกิดต้นแบบผลิตภัณฑ์และสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ขึ้น จากนั้นบริษัท อิสระ โกลบอล เทคโนโลยี แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ได้ขอใช้สิทธิผลงานวิจัยดังกล่าวเพื่อพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ โดยต่อมาโครงการได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการ “นวัตกรรมแบบเปิด” (Open Innovation) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ในการพัฒนาและขยายส่วนการผลิตสู่เชิงพาณิชย์



    ดร.ณัฐพนธ์ อุทัยพันธุ์ หัวหน้าโครงการทีมวิจัย เปิดเผยว่า ค่ายนวัตกรยางพารา จัดโดยสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา  ทำให้เรารวมกลุ่มนักวิจัย 4 คน นำเอายางพาราไปช่วยแก้ปัญหาในงานวิศวกรรมเหมือง กิจกรรมในค่าย 2 วัน หลังจากนั้น ทีมงานได้รับทุนศึกษาวิจัยจากสถาบันนวัตกรรมยางพาราทันที จนเกิดผลงาน “กรวยยางธรรมชาติอุดรูระเบิด งานวิศวกรรมเหมืองแร่” เพิ่มประสิทธิภาพการระเบิดหิน ลดต้นทุนการผลิต ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยไม่เพิ่มค่าใช้จ่าย ทีมงานได้จดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว โดยได้นำไปใช้ในเหมืองแร่ ที่ภาคอีสาน ภาคใต้



    โครงการวิจัยกรวยยางธรรมชาติอุดรูระเบิดเกิดจากการรวมกลุ่มกันของนักวิจัยด้านเทคโนโลยียางและนักวิจัยด้านวิศวกรรมเหมืองแร่ ประกอบด้วย ดร.ณัฐพนธ์ อุทัยพันธุ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมและเทคโนโลยียาง (หลักสูตรนานาชาติ) วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สกุลรัตน์ พิชัยยุทธ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยียาง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี อาจารย์วิฆเนศว์ ดำคง และอาจารย์พงศ์ศิริ จุลพงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และวัสดุ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาและพิสูจน์ผลิตภัณฑ์ยางพาราต้นแบบจากสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์