ข่าวชาวสงขลานครินทร์

สงขลานครินทร์ วางกลยุทธ์บริหารจัดการคนเก่งขับเคลื่อนชื่อเสียงสู่ระดับสากล




    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการยอมรับด้านคุณภาพในระดับโลก จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกของสถาบันการจัดอันดับชั้นนำนานาชาติที่เป็นยอมรับทั่วไป เช่นในการจัดอันดับโดยแบ่งตามความเข้มแข็งของงานวิจัยตามสาขาวิชา พบว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อยู่ในอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกในสาขา Medicine สาขา Argricultural and Biological Sciences โดยจากผลการจัดอันดับของ U.S. News & World Report Best Global Universities rankings 2021 พบว่าสาขา Agricultural Sciences อยู่ในอันดับ 1 ของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีสาขา Engineering สาขา Biochemistry, Genetics and Molecular Biology สาขา Material Science และสาขา Chemistry ที่มีผลการจัดอันดับอยู่ระดับต้นๆ ของสถาบันจัดอันดับของโลก ดังนั้นเพื่อให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นที่ยอมรับทางวิชาการในระดับสากลมากขึ้น และสนองภารกิจที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ที่ได้จัดกลุ่มให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อยู่ในกลุ่ม Global and Frontier Research ซึ่งภารกิจส่วนหนึ่งคือยกระดับมหาวิทยาลัยในเวทีโลกให้มีอันดับสูงขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ จึงได้มีการวางแผนกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้มีชื่อเสียงในระดับสากลใน 3 ประเด็นหลักคือ

 ⁃ ด้านการสร้างชื่อเสียงด้านวิชาการ โดยการพลิกโฉมทั้งด้านการศึกษา การวิจัย งานพันธกิจสัมพันธ์ พัฒนาด้านการเรียนการสอน มีบุคลากรที่มีคุณภาพ มีระบบการบริหารจัดการคนเก่ง และสร้างเครือข่ายการสื่อสารในระดับสากล

 ⁃ ด้านทัศนคติของผู้จ้างงานต่อบัณฑิต โดยจะสร้างบัณฑิตให้เป็นผู้มีทักษะในการทำงานในศตวรรษที่ 21 มีทักษะทางด้านการคิด วิเคราะห์แยกแยะ เพื่อการตัดสินใจและการแก้ปัญหาอย่างมีวิจารณญาณ มีความคิดเชิงนวัตกรรมและสร้างสรรค์ มีทักษะในการสื่อสาร มีความฉลาดทางอารมณ์ และการสร้างความสัมพันธ์กับสังคมเครือข่ายและผู้ที่เกี่ยวข้อง 

 ⁃ ด้านการอ้างอิงต่อผลงานที่ ได้รับการตีพิมพ์ ทั้งการเพิ่มจำนวนผลงานวิจัยตีพิมพ์ในฐานข้อมูล Scopus และ ISI การทบทวนวรรณกรรม การเขียน Book chapter การเพิ่มจำนวนผู้ช่วยวิจัย และคณาจารย์ที่มีตำแหน่งวิชาการและมีความสามารถด้านการวิจัย 

    ในการนำแผนกลยุทธ์ดังกล่าว เข้าขอความเห็นชอบและคำเสนอแนะจากสภามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 กรรมการสภาฯ ได้ร่วมกันให้ข้อเสนอแนะว่า การนำผลการจัดอันดับคุณภาพมหาวิทยาลัยโลกมาใช้เป็นเครื่องมือคุณภาพอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจและรู้เท่าทันโดยไม่จำเป็นต้องนำมาใช้ทั้งหมด เนื่องจากโดยสภาพการหลายอย่างทำให้มหาวิทยาลัยในประเทศไทยไม่สามารถเปรียบเทียบด้านคุณภาพตามหลักเกณฑ์ของสถาบันจัดอันดับ กับมหาวิทยาลัยในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจได้ ประกอบกับปัญหาหลักของมหาวิทยาลัยไทยในปัจจุบันคือนักศึกษาลดลง รายได้ภาครัฐลดลง จึงยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าการได้รับการจัดอยู่ในอันดับคุณภาพของมหาวิทยาลัยโลกจะช่วยดึงให้เยาวชนมาศึกษาได้เพียงใด 

    อย่างไรก็ตาม การนำผลการจัดอันดับคุณภาพในระดับโลกมาขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย จะทำให้เกิดการตื่นตัวในการแข่งขัน โดยการนำไปผูกโยงกับการจัดการบุคลากรคุณภาพจะทำให้ขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น นอกจากนั้นการได้คณาจารย์ที่มีคุณภาพเข้ามาบริหารหลักสูตร จะสามารถควบคุมคุณภาพของหลักสูตรให้ดี ทำให้ได้นักศึกษาที่มีคุณภาพ และเกิดผลงานที่มีคุณภาพด้วย ควรมีการรวมพลังเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่ชัดเจนและมุ่งความเชี่ยวชาญไปในทางเดียวกันแม้ต่างคณะวิชากัน และยังคงคุณภาพของสาขาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพิ่มเติมจากที่ปัจจุบันมีการยึดหลักให้ถือประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าส่วนตนเป็นลักษณะพิเศษของเราข้อหนึ่งอยู่แล้ว ควรเปิดโอกาสให้นักศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรี มาร่วมสร้างองค์ความรู้และร่วมวิจัยนอกเหนือจากการเข้ามาเพื่อรับความรู้อย่างเดียว รวมทั้งร่วมในกระบวนการร่วมมือกับภาคเอกชนหรืองานพันธกิจสัมพันธ์ ซึ่งเป็นโครงการหรือกิจกรรมการศึกษาวิจัยที่มหาวิทยาลัยร่วมคิดร่วมทำกับองค์กรชุมชนเพื่อประโยชน์ร่วมกัน ควรมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะเกิดผลงานและนวัตกรรมที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ควบคู่ไปกับการรับบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านวิชาการ งานวิจัย และความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อสนองในทิศทางที่เราต้องการหรือเปิดโอกาสให้ผู้มีประสบการณ์จากภายนอกเข้ามาร่วมการสอนและการวิจัยด้วย