ค้นพบ “เอื้องอัญมณีศรีธรรมราช” กล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลก โดยความร่วมมือของ นักวิจัย ม.อ. หอพรรณไม้ และ มธ.
พิพิธภัณฑ์พืชมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (PSU) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำโดย รศ.ดร.สหัช จันทนาอรพินท์ ร่วมกับ หอพรรณไม้ (BKF) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ค้นพบ เอื้องอัญมณีศรีธรรมราช (Corybas papillatus Inuthai, Chantanaorr. & Suddee) กล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลก
สำหรับ “เอื้องอัญมณีศรีธรรมราช” ถูกค้นพบที่เขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยทีมนักพฤกษศาสตร์จากหอพรรณไม้ และได้ส่งตัวอย่างมาให้ รศ. ดร.สหัช จันทนาอรพินท์ นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อตรวจสอบและระบุชนิด จากการศึกษาพบว่ากล้วยไม้ชนิดนี้เป็นกล้วยไม้ดินขนาดเล็ก มีหัวใต้ดินรูปทรงกลมหรือรูปไข่ ใบเดี่ยวรูปหัวใจ ดอกสีม่วง กลีบเลี้ยงบนปลายกลีบกลม ผิวด้านนอกของกลีบเลี้ยงบนมีปุ่มไม่เป็นระเบียบ กลีบเลี้ยงข้างและกลีบดอกสีเขียวลักษณะเป็นเส้นคล้ายเสาอากาศ กลีบเลี้ยงข้างและกลีบดอกเชื่อมกันที่โคน กลีบปากแยกเป็นสองส่วน ส่วนโคนตั้งตรง ม้วนเป็นหลอด เกิดเป็นช่องรูปอักษรวี มีเดือยรูปกรวยสองอัน กลีบปากส่วนปลายโค้งกลับหลังและแผ่ออก รูปเกือบกลม มีขนที่ผิว ขอบกลีบปากจัก จากการตรวจสอบพบว่ามีลักษณะคล้ายกับ Corybas villosus J. Dransf. & Gord. Sm. ซึ่งเคยมีรายงานในประเทศมาเลเซีย แต่แตกต่างกันที่กลีบเลี้ยงบนของเอื้องอัญมณีศรีธรรมราช ไม่มีสันด้านนอก และกลีบเลี้ยงข้างเชื่อมติดกับกลีบดอกทั้งสองอันที่เชื่อมติดกัน
ดังนั้น คณะนักวิจัย นำโดย ดร.สมราน สุดดี นักวิจัยจากหอพรรณไม้ ดร.เจนจรีย์ อินอุทัย นักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ. ดร.สหัช จันทนาอรพินท์ นักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์พืชมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (PSU) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงได้ร่วมกันบรรยายลักษณะและตั้งชื่อกล้วยไม้ชนิดนี้เป็นพืชชนิดใหม่ของโลก โดยคำระบุชนิด (specific epithet) “papillatus” มาจากลักษณะผิวด้านนอกของกลีบเลี้ยงบนมีปุ่ม