ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.อ.ภูเก็ต ร่วมขับเคลื่อนจังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ (กะรนเวลเนสแซนด์บ๊อกซ์)




มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เปิดประชุมขับเคลื่อนพื้นที่จังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ (กะรนเวลเนสแซนด์บ๊อกซ์) ครั้งที่ 1 สร้างความเข้าใจในแนวทางการพัฒนาพื้นที่เทศบาลตำบลกะรน


เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 64 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ในฐานะหัวหน้าโครงการรูปแบบการขับเคลื่อนพื้นที่จังหวัดภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ (กะรนเวลเนสแซนด์บ๊อกซ์) เปิดการประชุมโครงการรูปแบบการขับเคลื่อนพื้นที่จังหวัดภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ (กะรนเวลเนสแซนด์บ๊อกซ์) ครั้งที่ 1 โดยมีผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับกิจการการท่องเที่ยวส่งเสริมสุขภาพ โรงแรมในเขตพื้นที่ตำบลกะรน ผู้นำชุมชน ประชาชนในพื้นที่ตำบลกะรน และผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการโรงแรมส่งเสริมสุขภาพสำหรับผู้บริหารทั้งจังหวัด ภูเก็ต พังงา กระบี่ และสุราษฎร์ธานี เข้าร่วม ณ สำนักงานเทศบาลตำบลกะรน และออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting




    โครงการรูปแบบการขับเคลื่อนพื้นที่จังหวัดภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ (กะรนเวลเนสแซนด์บ๊อกซ์) มีที่มาจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) กำหนดเป้าหมายการพัฒนาให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ประชาชนมีรายได้ดี คนมีคุณภาพ และจะทำให้ประเทศพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) หรือ 10 อุตสาหกรรม S-Curve โดยที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มที่มีรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพพร้อมที่จะดำเนินการต่อยอด ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องศึกษา และพัฒนาการบริการด้านสุขภาพต่อไปอย่างเข้มข้นให้มีความทันสมัย ด้วยวิธีการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงการให้บริการด้านสุขภาพ และพัฒนาเครื่องมือด้านการตลาดควบคู่กันไป



    โดยการจัดประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจในแนวทางการพัฒนาพื้นที่เทศบาลตำบลกะรน ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบเมืองท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เทศบาลตำบลกะรน ได้แสดงความคิดเห็นในแนวทางการพัฒนากะรนเป็นเมืองสุขภาพ ตลอดจนเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการบูรณาการ การออกแบบเมือง และแผนแม่บทในการพัฒนาเมืองสุขภาพ