ข่าวชาวสงขลานครินทร์

สงขลานครินทร์ เปิดเวทีวิชาการพืชกระท่อมครั้งแรกในไทย ขับเคลื่อนงานวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ




    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยคณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด (สพส.) และเครือข่ายวิชาการพืชกระท่อมไทย จัดประชุมทางวิชาการพืชกระท่อมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ "อดีต ปัจจุบัน อนาคตพืชกระท่อม" ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวต้อนรับ รองศาสตราจารย์ ดร.อัญชนา ประเทพ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวเปิดงาน โดยถ่ายทอดสดผ่าน เว็บไซต์ Kratom.sci.psu.ac.th เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 64



    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อนวัตกรรมและสังคม ที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ และเป็นกลไกหลักในการพัฒนาภาคใต้และประเทศ โดยการสร้างความเป็นผู้นําทางวิชาการและนวัตกรรม โดยมีการวิจัยเป็นฐาน โดยพืชกระท่อมมีการพบแพร่หลายอยู่ในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคใต้ เราจึงมีทีมวิจัยที่ร่วมกันขับเคลื่อน เพื่อนำพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัย และการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ชุมชนจนถึงระดับอุตสาหกรรม รวมทั้งเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ



    รองศาสตราจารย์ ดร.อัญชนา ประเทพ กล่าวว่า หลังจากที่พืชกระท่อมมีสถานะเป็น "ยาเสพติดให้โทษ" ภายใต้ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษมานานถึง 41 ปี ปัจจุบันได้มีการปรับแก้กฎหมายในการถอดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เพื่อลดทอนความเป็นอาญา ลดจำนวนคดี และลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคดี สามารถใช้พืชกระท่อมตามวิถีชาวบ้านได้โดยไม่เป็นความผิด และไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และอื่นๆ ตลอดจนการพัฒนาและส่งเสริมเป็นพืชเศรษฐกิจบนรากฐานของชุมชน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ สถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด (สพส.) และเครือข่ายวิชาการพืชกระท่อมไทย จึงได้จัดงานประชุมทางวิชาการพืชกระท่อมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 ประจำปี 2564 ขึ้น ภายใต้หัวข้อ "อดีต ปัจจุบัน อนาคตพืชกระท่อม" เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับพืชกระท่อม ติดตามและทบทวนทิศทางการขับเคลื่อนงานวิชาการเกี่ยวกับพืชกระท่อม พัฒนาความร่วมมือเครือข่ายวิชาการและภาคีที่เกี่ยวข้องในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพืชกระท่อมให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนเพื่อเป็นประโยชน์ต่อชุมชนต้นแบบและภาคอุตสาหกรรม



ภายในงานได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย จากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) สาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. มาบรรยายในหัวข้อ “พืชกระท่อม พืชยา พืชเศรษฐกิจ ที่น่าจับตามอง” พร้อมการนำเสนอผลงานวิชาการจากนักวิชาการ นักวิจัยจากสถาบันการศึกษาต่างๆ และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องอย่างครอบคลุม 

ด้าน ผศ. ดร.สมชาย ศรีวิริยะจันทร์ ประธานจัดงาน กล่าวว่า ภายในงานมีการนำเสนองานวิจัยที่ได้ดำเนินการก่อนที่ประเทศไทยจะมีการประกาศปลดล็อคพืชกระท่อม ทั้งต้นน้ำ คือ การปลูก การคัดเลือกสายพันธุ์ และการทำมาตรฐานของพืชกระท่อม กลางน้ำ คือ การนำใบของพืชกระท่อมมาใช้ประโยชน์ในการทำสารสกัด สารบริสุทธิ์ และปลายน้ำ คือ วิธีการนำสารจากพืชกระท่อมมาทำผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอ “ชุดตรวจสารไมทราไจนีน” (Mitragynine) ซึ่งใช้งานง่าย และสามารถตรวจได้ทันที ซึ่งชุดตรวจดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ทราบว่าในกระท่อมมีสารไมทราไจนีนมากน้อยเท่าไหร่ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับใบกระท่อมอีกด้วย ซึ่งในครั้งนี้ท่านใดพลาดการประชุม สามารถเข้าชมเทปการประชุมย้อนหลังรวมถึงข้อมูลการวิจัยพืชกระท่อมของประเทศไทยได้ทางเว็บไซต์ https://kratom.sci.psu.ac.th