ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.อ. สร้างนักวิชาการด้านสุขภาวะโลกอย่างต่อเนื่อง รองรับยุคโควิดที่คนสนใจระบาดวิทยามากขึ้น




    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เปิดการเรียนการสอนสาขาระบาดวิทยาเป็นหลักสูตรนานาชาติมาตั้งแต่ปี 2529 เพื่อเสริมพันธกิจในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านการวิจัยในระดับสูง โดยเน้นการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาที่สร้างความรู้ใหม่ที่นำไปสู่การส่งเสริมป้องกันและการแก้ปัญหาด้านสุขภาวะของประชากรโลก ควบคู่ไปกับการวิจัยปัญหาสุขภาพที่มีความสำคัญระดับชาติและนานาชาติ และการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่สถาบันวิจัยสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา



    ศาสตราจารย์ นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ประธานหลักสูตรและผู้ก่อตั้งสาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  เปิดเผยว่า การเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษา ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังสามารถจัดการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาจากประเทศต่างๆ ได้ ผ่านระบบ zoom โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง นักศึกษาสามารถติดตามการสอนตามเวลาที่เหลื่อมกันของแต่ละประเทศ  รวมทั้งการให้นักศึกษาแต่ละประเทศนำเสนอผลงาน และการติวเนื้อหาการเรียนการสอนระหว่างนักศึกษาและอาจารย์ นอกจากนั้น อาจารย์ยังสามารถเปิดโอกาสให้ศิษย์เก่าได้ เข้าร่วมสัมมนาใน หัวข้อที่สนใจร่วมกันระหว่างประเทศ เช่น ระบาดวิทยาของโรคโควิด-19 และการประเมินประสิทธิผลของวัคซีน ทำให้บรรยากาศวิชาการในเครือข่ายอาจารย์ ศิษย์เก่า และ ศิษย์ปัจจุบันมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น



    นักศึกษาระบาดวิทยานานาชาติ ม.อ. ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาต่างชาติ จากประเทศอินโดนีเซีย เมียนมาร์ และไทย โดยได้รับทุนสนับสนุน จาก National Institutes of Health ของรัฐบาลสหรัฐอมริกา ทุนดังกล่าวมีเป้าหมายสร้างนักวิจัยเพื่อการควบคุมวัณโรคในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ นักศึกษาบางส่วนเรียนด้วยทุนส่วนตัว ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนประมาณครึ่งหนึ่งของนักศึกษาทั้งหมด



    ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  มีบทความวิชาการด้านระบาดวิทยาที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 เผยแพร่ออกสู่ประชาชนอย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง ทำให้ประชาชนสนใจวิชาระบาดวิทยาและรู้จักสาขาระบาดวิทยาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม วิชาระบาดวิทยาเป็นแกนกลางในการวิจัยสุขภาพทุกเรื่อง ไม่ได้จำกัดเฉพาะโรคติดต่อเท่านั้น 



    ที่ผ่านมาในช่วง 5-10 ปี มีนักศึกษาสาขาระบาดวิทยา รุ่นละ 10-20 คน ปัจจุบันมีนักศึกษา จำนวนลดลงไปบ้างเนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจ และปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม การได้รับทุนสนับสนุนจากแหล่งทุนภายนอกช่วยสนับสนุนให้ได้นักศึกษาจากประเทศในอาเซียน ทำให้จำนวนนักศึกษาลดลงไม่มากนัก



    "ด้านอาจารย์ผู้สอน สาขาระบาดวิทยามีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีผลงานตีพิมพ์ในสาขาสาธารณสุขเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเซีย ประสบการณ์และคุณวุฒิของอาจารย์ที่เข้มข้นเหล่านี้ทำให้หลักสูตรสร้างผลผลิตได้ดี  ขณะนี้กำลังเร่งบ่มเพาะอาจารย์รุ่นใหม่มาเสริมพลังต่อเนื่องจากรุ่นปัจจุบัน" ศาสตราจารย์ นพ.วีระศักดิ์ กล่าว