ข่าวชาวสงขลานครินทร์

วิทยาการจัดการ ม.อ. อบรมหลักสูตร “การบริหารการเงินเพื่อการตัดสินใจ” เพิ่มประสิทธิภาพสหกรณ์การเกษตร




    คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดอบรมหลักสูตร “การบริหารการเงินเพื่อการตัดสินใจ” เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของสหกรณ์การเกษตร เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 ณ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

    นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีรวัฒน์ หังสพฤกษ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ เป็นประธานร่วมกล่าวเปิดโครงการอบรม หลักสูตร “การบริหารการเงินเพื่อการตัดสินใจ” รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 6-10 กันยายน 2564 ผ่านสื่อออนไลน์ในรูปแบบการสื่อสารแบบสองทาง ด้วยโปรแกรม Zoom แก่เจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ และสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศ จำนวน 100 คน เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจในการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน การลงทุน และสามารถช่วยผู้บริหารในการขับเคลื่อนภารกิจขององค์กรไปสู่เป้าหมายและทิศทางขององค์กร กระทรวง และรัฐบาลได้



    การอบรมจะช่วยพัฒนาให้บุคลากรก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับผู้บริหารองค์กร มีโลกทัศน์ที่กว้างไกล เข้าใจสถานการณ์โลกปัจจุบัน รวมถึงการคาดการณ์แนวโน้มการดำเนินธุรกิจทั้งด้านการเกษตรและการเงินผ่านงบการเงินขององค์กรธุรกิจได้อย่างเหมาะสม มีทักษะในการคิดวิเคราะห์  และการมองภาพองค์รวมให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้ โดยหลักสูตรดังกล่าวมีกำหนดจัดอบรมรุ่นที่ 2 ในระหว่างวันที่ 13-17 กันยายน 2564 ต่อไป



    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีรวัฒน์ หังสพฤกษ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า คณะวิทยาการจัดการ มีศาสตร์การจัดการที่หลากหลายทั้งศาสตร์ด้านบริหารธุรกิจ การบัญชี และรัฐประศาสนศาสตร์ และที่ผ่านมา คณะวิทยาการจัดการ ได้จัดอบรมหลักสูตรระยะสั้นอย่างต่อเนื่องหลายหลักสูตร ให้แก่เจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ 

    โดยในปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา ได้จัดการอบรมหลักสูตร “การเขียนโครงการมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์เพื่อการขอรับการจัดสรรงบประมาณ” จำนวน 4 รุ่น และหลักสูตร “นักการเงิน Fundamental” จำนวน 2 รุ่น เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ปฏิบัติงานของกรมส่งเสริมสหกรณ์ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน ทำให้มีความรู้ความเข้าใจในด้านการเงิน การบัญชี และการลงทุน และสามารถใช้ข้อมูลในงบการเงินเพื่อวิเคราะห์และคาดการณ์แนวโน้มการดำเนินธุรกิจได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งสามารถใช้ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ไปในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการองค์กรได้เป็นอย่างดี