ข่าวชาวสงขลานครินทร์

การเป็นสถาบัน ต้นสมองความคิดและบ่มเพาะคนดีของชาติ “คือคุณค่าสงขลานครินทร์”




    รองศาสตราจารย์ ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปาฐกถา    พิเศษ “คุณค่าสงขลานครินทร์” ในงานวันครบรอบ 53 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2564 ในรูปแบบออนไลน์ โดยได้เชิญชวนให้ลูกสงขลานครินทร์ทุกคน มาร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานนาม “สงขลานครินทร์” เป็นชื่อมหาวิทยาลัย ร่วมสำนึกถึงพระราโชวาทสมเด็จพระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์ที่เป็นแสงส่องนำทางให้เราเดินไปข้างหน้า นอกจากนั้นยังให้ตระหนักถึงกิจของมหาวิทยาลัยที่ต้องเสาะหาวิชชา สอนกุลบุตร ทำนุบำรุงนักปราชญ์ เป็นต้นสมองความคิดของชาติ เป็นสถานเลี้ยงคนดีของชาติ โดยท่านเชื่อว่า ถ้าเรายึดในสิ่งเหล่านี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะมีคุณค่า จะรุ่งโรจน์และยั่งยืนคู่กับสังคมไทยตลอดไป


 
   อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า เมื่อย้อนถึงการเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต้องไม่ลืมที่จะกล่าวถึงผู้ที่มีบุญคุณกับในการบริจาคที่ดินเพื่อสร้างความเข้มแข็งในระยะเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยในหลายวิทยาเขต คือ คุณซุ้ยสิ้ม ปริชญากร คุณชอุ่ม วิจารณ์ศุภกิจ ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี คุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร ในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่  และ ตระกูลของหลวงอานุภาษภูเก็ตการและคุณวีระพงษ์ หงษ์หยก ที่จังหวัดภูเก็ต  เราเริ่มต้นด้วยการทดสอบความมุ่งมั่นและความแข็งแกร่ง  เพราะตั้งแต่ระหว่างปี 2508-2526 พื้นที่ภาคใต้เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางลัทธิการเมือง และจากนั้นในปี 2547 ก็เกิดภาวะความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้อีกครั้งหนึ่ง เราได้ผ่าฟันอุปสรรคนานัปการ แม้ว่าจะมีอาจารย์ลาออกเหมือนกับเลือดที่ไหลไม่หยุด แต่เราก็ยังยืนหยัดอยู่ได้ในความเป็นสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพ และได้รับการยอมรับอยู่ในการจัดอันดับคุณภาพระดับโลกทุกปี

    สิ่งที่เป็นจิตวิญญาณของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คือพระราโชวาทของสมเด็จพระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์ ที่เป็นแสงสว่างนำทางมหาวิทยาลัยสู่ความรุ่งโรจน์ ที่ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ที่ฝังอยู่ในความคิดและสายเลือดของเราตั้งแต่เริ่มต้น และนำไปสู่การเป็นสถาบันที่หล่อหลอมเยาวชนทั้งร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา เพื่อให้เป็นคนดีของชาติ สมเด็จพระบรมราชชนกได้เคยทรงมีพระราชดำริถึงมหาวิทยาลัยที่จะมีการจัดตั้งในประเทศไทยว่า ควรพิจารณาว่ากิจของมหาวิทยาลัยมีอะไรบ้าง กิจของมหาวิทยาลัยคือ search for the knowledge เปิดโอกาสให้กุลบุตรได้เรียนเสาะหาวิชชา เลี้ยงดูบำรุงนักปราชญ์ เป็นสถาบันที่เต็มไปด้วยนักวิชาการที่เสาะหาวิชาเพื่อนำความรู้นั้นมาสอนกุลบุตร เป็นกิจสำคัญที่สุดของมหาวิทยาลัย ควบคู่กับการเป็นสมองต้นความคิดของชาติ เป็นสถานเลี้ยงคนดีของชาติ



    ความรู้ที่เกิดจากแต่ละมหาวิทยาลัยเปรียบเหมือนเม็ดทรายที่เริ่มต้นอาจยังไม่เห็นประโยชน์ที่ชัดเจน แต่เมื่อเอาแต่ละเม็ดมารวมกันเป็นกองทราย และนำทรายมาก่อเป็นอิฐและนำอิฐหลายก้อนมาสร้างเป็นที่อยู่อาศัย สะพาน จะเกิดคุณค่าต่อมวลมนุษย์ ดังนั้นมหาวิทยาลัยต้องมีอุดมการณ์ในทางวิชาการ เพื่อเป็นเสาค้ำยันให้สังคมโดยรวม บทบาทหนึ่งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์รวมทั้งมหาวิทยาลัยทั่วโลก คือการเสาะหาวิชชาที่สมเด็จพระบรมราชชนกได้กล่าวไว้เบื้องต้น ที่ทำให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าในอดีต อย่างไรก็ตามในมิติที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งมุ่งสอนแต่วิชาความรู้ แต่เริ่มละเลยการสอนความเป็นคนดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จึงน้อมนำพระราโชวาทมาเป็นจิตวิญญาณ ผนวกกับแนวความคิดด้านการศึกษาของท่านพุทธทาสภิกขุ ที่เห็นว่าสถานศึกษาปัจจุบันละเลยการสอน การเรียนรู้เพื่อยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นหรือความเป็นมนุษย์เพื่อให้เป็นคนดีของสังคม ทำให้เกิดความเห็นแก่ตัวมากขึ้น เราจึงมีความพยายามมายาวนานที่จะหล่อหลอมเยาวชนของชาติในทุกมิติแม้แต่ในหลักสูตรการเรียนและกิจกรรมนักศึกษา 

    “เพราะมหาวิทยาลัยเป็นสมบัติของประชาชนเพราะเติบโตขึ้นจากจากภาษีของประชาชน ที่นำมาสร้างตึกอาคารเรียน ห้องเรียน ซื้อครุภัณฑ์ สร้างโรงพยาบาล สร้างที่พัก นักศึกษาจึงเป็นนักเรียนทุนของประชาชน บุคลากรเป็นลูกจ้างของประชาชนและต้องรับใช้ประชาชนที่เป็นเจ้าของทุน จึงต้องมีการสื่อสารว่าจะต้องทดแทนเขาอย่างไร เมื่อสำนึกนี้ฝังเข้าไปในความรู้สึกของทุกคนแล้ว เราจึงจะเป็นมหาวิทยาลัยที่ทรงคุณค่าต่อสังคมไทย” อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าว