ข่าวชาวสงขลานครินทร์

เตรียมพบ 6 กูรูด้าน STEM Education ในการประชุมนานาชาติที่ ม.อ. 24-25 พ.ย. นี้




    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โอภาส เกาไศยาภรณ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาสื่อและเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ “The 2nd SEA-STEM 2021 International Conference” รูปแบบออนไลน์ กับมหาวิทยาลัยในเครือข่าย ซึ่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 24-25 พฤศจิกายน 2564 ว่าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้สนใจทั้งในประเทศและนานาชาติ ส่งบทความเกี่ยวกับ STEM Education เข้ามาร่วมนำเสนอในที่ประชุม โดยส่วนหนึ่งเป็นการเชิญชวนในกลุ่มของผู้ร่วมประชุม SEA-STEM International Conference ในครั้งที่ผ่านมาที่ประเทศอินโดนีเชีย อย่างไรก็ตามการจัดครั้งนี้จะมีความเด่นและมีความหลากหลายมากขึ้น เพราะนอกจากจะนำจุดเด่นและจุดแข็งของการจัดงานครั้งแรกมาปรับใช้ในการจัดครั้งนี้แล้ว ยังนำประสบการณ์จากการที่สำนักการศึกษาและนวัตกรรมการเรียนรู้ได้จัด PSU Education Conference มาแล้ว 9 ครั้ง ติดต่อกันทุกปีมาปรับใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและได้ผลสำเร็จที่ดีที่สุด



    สถานการณ์การระบาดครั้งใหม่ของโควิดคือผลกระทบที่ผู้จัดจะต้องคิดรูปแบบที่ท้าทายในการประชุมวิชาการครั้งนี้  ซึ่งก่อนหน้านี้ในช่วงเริ่มต้นโครงการ ซึ่งสถานการณ์ยังไม่รุนแรง  มหาวิทยาลัยเคยมีแนวคิดที่จะจัดการประชุมแบบผสมผสานระหว่าง online กับ onsite แต่ต้องมีการปรับแผนโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการ โดยความร่วมมือของสำนักดิจิทัลและระบบอัจฉริยะ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่มีความพร้อมด้านบุคลากรและเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้สามารถจัดงานในรูปแบบ online ที่มีความเหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้ประโยชน์สูงสุด

    ส่วนหนึ่งที่น่าสนใจและสามารถดึงดูดผู้เข้าร่วมประชุมได้อย่างดีคือ วิทยากรที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิมีความชำนาญและเชี่ยวชาญ ในด้าน STEM Education ซึ่งหนึ่งในท่านที่ตอบรับการเป็นวิทยากรในครั้งนี้คือ คุณมีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ “โรงเรียนไม้ไผ่” มีชัยพัฒนา อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีแนวคิดสำคัญให้โรงเรียนเปลี่ยนจากที่ที่เด็กมาเรียน มาเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคน โดยนำเอากระบวนการของ STEM ไปบูรณาการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำหรับการพัฒนาเยาวชนเพื่อรองรับการต่อยอดสู่ระดับอุดมศึกษา เพื่อสร้างคนที่ประเทศต้องการคือมีทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต เพื่อออกไปใช้ชีวิตได้จริง และ รองศาสตราจารย์ ดร.จินตวีร์ คล้ายสังข์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการไทยที่มีประสบการณ์และมุมมองการจัดการ STEM ให้มีความยั่งยืน




    นอกจากนั้น ยังมีวิทยากรจากมหาวิทยาลัยระดับนานาชาติ คือ Professor Dr. Valentina Dagiene มหาวิทยาลัย Vilnius ประเทศลิธัวเนีย นักวิชาการมากประสบการณ์ที่เป็นที่ยอมรับในด้าน STEM Education ในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียและลิธัวเนีย  Associate Professor Dr. Hizir Sofya จาก มหาวิทยาลัย Syiah Kuala ประเทศอินโดนีเชีย วิทยากรด้าน STEM ที่มีชื่อเสียงและเป็นแกนนำหลักในการวางกลยุทธ์ด้าน STEM Education ของอินโดนีเซียและอาเซียน Professor Dato Dr. Noraini Idris จาก National STEM Association มหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซีย หนึ่งในผู้ที่ขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติด้าน STEM ของมาเลเซีย และ Mr.Miroslav Kostecki  มหาวิทยาลัย Bamenda (CUIBa) Technology Transfer CTO STEMSEL Foundation Inc. นักวิชาการออสเตรเลียที่มีมุมมองของ STEM ในด้านธุรกิจ






    สนใจติดต่อ Ms. Chongchit Ratyot International Affairs Officer, PSU Tel : +66 81 598 8871, +66 7428 2253  E-mail : stem2021@g.psu.ac.th Website : https://stem.psu.ac.th