ม.อ. และ สกสว. เสวนา งานวิจัยและนวัตกรรมด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์
สถาบันวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัล ร่วมกับ สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เสวนา งานวิจัยและนวัตกรรมด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ “แนวทางการพัฒนาประเทศ ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัลประดิษฐ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ออนไลน์ ถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Page สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ สกสว.
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายนักวิจัยร่วม ระหว่างนักวิจัยด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และต่อยอดงานวิจัยกับ Startup ที่เกี่ยวข้อง ผู้ร่วมสัมมนา ประกอบด้วย นักวิจัยและ Startup ทั้งทางด้านธุรกิจการเงิน และการธนาคาร ด้านการเกษตร ด้านยานยนต์อัตโนมัติ นักวิจัยเครือข่ายทางด้านระบบอัตโนมัติ
การเสวนาเริ่มด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวสรุปงาน ดร.เอก จินดาพล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมด้านความสามารถในการแข่งขัน สกสว. เปิดการเสวนา ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย บรรยายพิเศษ “นวัตกรรมดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ในภาคการเงิน : มุมมองจากด้านนโยบาย”คุณณัฐชยา พงศ์อัครวัฒน์ นักวิชาการอาวุโส นโยบายด้านการกำกับดูแลที่ดี มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย บรรยายพิเศษ “Ethics and Governance in AI” และ รศ. ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ บรรยายพิเศษ “ภาพรวมการสนับสนุนวิจัย และนวัตกรรม เพื่อการแข่งขันของประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์” ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ ปานรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณรัช สันติอมรทัต ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัล ม.อ. และที่ปรึกษาการจัดการความรู้ด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ สกสว. ร่วมเสวนา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ความร่วมมือในการจัดเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 โดยที่ผ่านมาได้จัดเสวนาในหัวข้อด้านเศรษฐกิจ การแพทย์ และยานยนต์ เพื่อพลิกโฉมประเทศไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในการพัฒนาประเทศ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคม การสร้างระบบอุตสาหกรรมเกษตร สมาร์ทฟาร์มมิ่ง ต่อยอดโครงการเพื่อช่วยในการบริหารจัดการท่องเที่ยว การระบาดของโควิด-19 ซึ่งเกิดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ได้มีการนำ AI ปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาช่วยการแพทย์ ในการแปรผลภาพเอ็กซเรย์ทรวงอกในการตรวจคัดกรอง โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วยลดภาระของหน่วยงานและบุคลากรทางการแพทย์