ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.อ. ปัตตานี เปิดตัว “APP TECH แก้จนคนตานี เทคโนโลยีพร้อมใช้” 10 เทคโนโลยี แก้ปัญหาความยากจนชุมชนชายแดนใต้




มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดกิจกรรม Kick off การนำเสนอเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี “App Tech คนตานี เทคโนโลยีพร้อมใช้” เพื่อเสริมศักยภาพชุมชนและแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยมีแพทย์หญิง เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธาน พร้อมด้วย รศ. ดร.กรรณิการ์ สหกะโร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหัวหน้าโครงการ App Tech คนตานี เทคโนโลยีพร้อมใช้ กล่าวรายงาน ผศ. ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม วิทยาเขตปัตตานี และประธานโครงการวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวต้อนรับ ซึ่งมีหัวหน้าส่วนภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้ เครือข่าย อว. ส่วนหน้าจังหวัดปัตตานี ภาคีเครือข่ายงานวิจัย ตัวแทนชุมชน ตัวแทนภาคประชาสังคม เข้าร่วม ณ สำนักงานวิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 67


รศ. ดร.กรรณิการ์ สหกะโร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หัวหน้าโครงการ App Tech คนตานี เทคโนโลยีพร้อมใช้ เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการ “App Tech คนตานี เทคโนโลยีพร้อมใช้” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคมในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ว่า โครงการดังกล่าวได้คัดสรรเทคโนโลยีที่เหมาะสม 10 โครงการ เพื่อนำไปใช้แก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ โดยเน้นเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในระดับครัวเรือนและชุมชน ได้แก่ 1. การพัฒนาระบบสครับเบอร์ดักจับเขม่าควันและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปลาคั่วของระดับครัวเรือนและระดับกลุ่ม 2. การพัฒนาเครื่องปรับหน้าดินนาเกลือหวานปัตตานี และชุดกรองน้ำทะเล 3. ระบบเตาชีวมวลประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมปรับให้เหมาะสมกับระดับครัวเรือน 4. ระบบทำแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับพลังงานความร้อนจากแหล่งอื่น 5. เทคโนโลยีด้านการจัดการผลิตอาหารสัตว์ เครื่องบด ผสม และอัดเม็ดอาหารสัตว์และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ครัวเรือนเป้าหมายในพื้นที่จังหวัดปัตตานี 6. เทคโนโลยีด้านการจัดการผลิตอาหารสัตว์ เครื่องสับ อัดพืชอาหารสัตว์อเนกประสงค์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและส่งเสริมการตลาดสินค้าปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่คุณค่า 7. เทคโนโลยีการผลิตปูนขาวจากเปลือกหอยสำหรับผลิตอาหารสัตว์และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ครัวเรือนเป้าหมายในพื้นที่จังหวัดปัตตานี 8. เทคโนโลยีการผลิตและการจัดการสินค้าเกษตรมูลค่าสูงและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ครัวเรือนเป้าหมายในพื้นที่จังหวัดปัตตานี 9. ระบบการปลูกพืชไม่ใช้ดินด้วยพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับการผลิตมะเขือเทศเชอรี่และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ครัวเรือนเป้าหมายในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และ 10. แบบจำลองการใช้เทคโนโลยีอาหารหมักเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน




“โครงการนี้มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือนยากจนอย่างน้อยร้อยละ 20 และสร้างโอกาสในการยกระดับฐานะทางสังคมให้แก่ประชาชน 150 ครัวเรือน หรือประมาณ 750 คน ในจังหวัดปัตตานี จุดเด่นของโครงการ “App Tech คนตานี” อยู่ที่การมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาและนำเทคโนโลยีไปใช้ ซึ่งจะทำให้เทคโนโลยีที่พัฒนานั้นตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้จริง และสามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาได้อย่างยั่งยืน” รศ. ดร.กรรณิการ์ กล่าว