ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.สงขลานครินทร์ สร้างความเข้มแข็งด้านอุตสาหกรรมตามมาตรฐานฮาลาล




    สำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อดำเนินการศึกษา ตรวจวิเคราะห์สิ่งปนเปื้อน ตลอดจนออกใบรับรองผลการตรวจวิเคราะห์ มุ่งเน้นการขอมาตรฐานฮาลาลของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมฮาลาล โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์อาซีซัน แกสมาน ผู้อำนวยการสำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัสมัน แตอาลี ผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมลงนาม รศ.ดร.สันทัด วิเชียรโชติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สถาบันฮาลาล และนางรุสนี กุลวิจิตร หัวหน้าฝ่ายบริการเครื่องมือวิจัยทางวิทยาศาสตร์ สำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบ เป็นสักขีพยาน ที่ ห้องประชุมใหญ่ สำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 64



    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพในการปฎิบัติงาน ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ ประชาชน และผู้มาใช้บริการของทั้ง 2 หน่วยงาน อันจะนำไปสู่การพัฒนา สร้างความเจริญเติบโต และเป็นตัวอย่างของความสำเร็จในอนาคตต่อไป



    รองศาสตราจารย์อาซีซัน แกสมาน ผู้อำนวยการสำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้เป็นการขับเคลื่อนงานด้านมาตรฐานฮาลาล โดยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนากิจการด้านฮาลาล สำนักเครื่องมือฯ มีความพร้อมทั้งด้านบุคลาการที่เชี่ยวชาญ และเครื่องมือต่างๆ ที่สามารถประยุกต์เพื่อสนับสนุนภารกิจด้านฮาลาลของสถาบันฮาลาล



    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัสมัน แตอาลี ผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ความต้องการในการตรวจสอบด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งการร่วมมือในครั้งนี้เป็นสิ่งที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่เป็นอย่างดี

    สำหรับขอบเขตความร่วมมือในการลงนามบันทึกข้อตกลง มีดังนี้ 

1. ร่วมมือกันจัดการเตรียมสถานที่ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ สำหรับการตรวจวิเคราะห์สิ่งปนเปื้อนที่เป็นนญิสมบทบัญญัติตามศาสนาอิสลาม 

2.ร่วมมือกันสร้างวิธีการที่สอดคล้องกับมาตรฐานสำหรับการตรวจวิเคราะห์สิ่งสกปรก (นญิส)ในระบบการควบคุมคุณภาพการผลิตมาตรฐานฮาลาลสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม 

3. ร่วมมือกันให้บริการตรวจวิเคราะห์วัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ และออกใบรับรองผลการตรวจวิเคราะห์เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการขอมาตรฐานฮาลาล 

4. ร่วมกันจัดการเรียนการสอนหลักสูตรอบรมระยะสั้น (non degree) เกี่ยวกับเทคนิคการตรวจวิเคราะห์ด้านวิทยาศาสตร์ที่จำเป็นสำหรับ Halal Quality Control ของโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับมาตรฐานฮาลาล 

5. ร่วมมือจัดหางบประมาณจากแหล่งทุนทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาความรู้ในการสร้างนวัตกรรมการทดสอบสินค้าและผลิตภัณฑ์ฮาลาล

6. ร่วมมือกันสื่อสาร สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ แก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการ เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของระบบการรับรองมาตรฐานฮาลาลของไทย

7. ร่วมกันแต่งตั้งผู้แทนเป็นคณะทำงานเพื่อประสานความร่วมมือระหว่างกัน