ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ม.อ. ปัตตานี จับมือ จ.ปัตตานี เร่งสร้างพื้นที่นำร่องต้นแบบ ขับเคลื่อนด้านคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)




มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นำโดย ผศ. ดร.อัตชัย เอื้ออนันตสันต์ รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี พร้อมคณะทำงานด้านคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ร่วมประชุมหารือกับนางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดปัตตานี สำนักงานด้านพลังงานจังหวัดปัตตานี สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดปัตตานี และกลุ่มงานยุทธศาสตร์ฯ สำนักงานจังหวัดปัตตานี ประกาศความร่วมมือขับเคลื่อนจังหวัดปัตตานีสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ณ ศาลากลางจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 




ผศ. ดร.อัตชัย เอื้ออนันตสันต์ รองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า การหารือในครั้งนี้เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางและกิจกรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมกับบริบทของจังหวัดปัตตานี อาทิ การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน การบริหารจัดการขยะมูลฝอย การปลูกป่า และการสร้างความตระหนักรู้ในชุมชน โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน นอกจากนี้ ยังมีการหารือถึงการพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน โดยมหาวิทยาลัยฯ จะสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในด้านนี้ เพื่อให้จังหวัดปัตตานีบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก




มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะองค์กรที่มีองค์ความรู้ด้านคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เป็นอย่างดีนั้น ได้รับบทบาทและความรับผิดชอบในการให้คำปรึกษาทางวิชาการและเทคนิคเกี่ยวกับแนวทางความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) และคาร์บอนเครดิต โดยจัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านเครดิตคาร์บอนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการให้คำแนะนำในการพัฒนาโครงการและการคำนวณปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก ดำเนินการวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมกับท้องถิ่น ด้วยศึกษาศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกในสาขาต่าง ๆ ของจังหวัดปัตตานี และดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และจัดฝึกอบรมและสัมมนาเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเครดิตคาร์บอน ด้วยการจัดหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานพันธมิตรและผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการจัดสัมมนาวิชาการประจำปีเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ สร้างความตระหนักรู้เรื่องคาร์บอนเครดิตแก่ประชาคมทั้งภายในมหาวิทยาลัย และภายในจังหวัดปัตตานี