มหาวิทยาลัยสงขลาครินทร์ มอบรางวัลอาจารย์ตัวอย่างดีเด่น และอาจารย์ตัวอย่างรุ่นใหม่ดีเด่น ประจำปี 2567
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้คัดเลือกอาจารย์ตัวอย่างดีเด่น อาจารย์ตัวอย่างรุ่นใหม่ดีเด่น เป็นประจำทุกปี เพื่อประกาศเกียรติคุณอาจารย์ตัวอย่างดีเด่นของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีความรู้ ความสามารถ อุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่มหาวิทยาลัยและประพฤติตนดีงามเป็นที่ประจักษ์อย่างต่อเนื่อง โดยอาจารย์ตัวอย่างดีเด่น จะเข้ารับพระราชทานโล่เกียรติยศ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีการศึกษา 2565-2566 ในวันที่ 18-21 กันยายน 2567 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมีผู้ได้รับการประกาศเกียรติคุณ อาจารย์ตัวอย่างดีเด่น และอาจารย์ตัวอย่างรุ่นใหม่ดีเด่น ประจำปี 2567 ดังนี้
- ผศ. ดร.ปฐมฤกษ์ อิงสันเทียะ อาจารย์ตัวอย่างดีเด่นด้านการเรียนการสอน สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
ปัจจุบัน ผศ. ดร.ปฐมฤกษ์ อิงสันเทียะ เป็นอาจารย์สังกัดสาขาชีววิทยา สังกัดหลักสูตรชีววิทยา สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีความมุ่งมั่น ทุ่มเท ทั้งแรงกายแรงใจและให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนเชิงรุกเป็นอย่างมาก มีการวางแผนการสอนอย่างเป็นระบบในแต่ละภาคการศึกษา สร้างความใฝ่รู้ในตัวผู้เรียน จนทำให้เกิดผลเป็นที่ประจักษ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนทำงานร่วมกันเป็นทีม มีความรับผิดชอบ กล้าคิดกล้าทำ เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตัวเอง การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้นักศึกษาที่ผ่านกระบวนการเรียนการสอนมีศักยภาพในการบูรณาการองค์ความรู้ สามารถนำเสนอและได้รับรางวัลในรูปแบบของกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งมีการพัฒนาตนเองด้านการเรียนการสอนอยู่เสมอ มีการประยุกต์ใช้และการประเมินผลของการเรียนการสอนด้วยเทคนิคและวิธีการออนไลน์ รูปแบบใหม่ ๆ ตลอดจนการติดตาม ให้คำปรึกษาและส่งเสริม ให้กำลังใจแก่ศิษย์ด้วยดีเสมอมา และผ่านการประเมินสมรรถนะอาจารย์ตามกรอบมาตรฐานสมรรถนะอาจารย์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (PSU-TPSF) ระดับสามัถติยาจารย์ นอกจากนี้ ยังมีผลงานนักศึกษา ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปฐมฤกษ์ อิงสันเทียะ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้รับรางวัล "Best Young Scientist Abstract" จากการนำเสนองานวิจัยในงานประชุมวิชาการ 6th International joint PSU-UNS Bioscience Conference (IBSC2016) ณ เมือง Novi Sad ประเทศเซอร์เบีย
- ผศ. อัสมา ทรรศนะมีลาภ อาจารย์ตัวอย่างดีเด่นด้านการเรียนการสอน สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
ปัจจุบัน ผศ. อัสมา ทรรศนะมีลาภ เป็นอาจารย์สังกัดหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารทางธุรกิจ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี มีความมุ่งมั่น ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจและให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอนเป็นอย่างยิ่ง มีการพัฒนาการสอนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นตลอดเวลา จนเกิดผลงานเป็นที่ประจักษ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้นักศึกษาที่ได้รับความรู้สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้มาบูรณาการในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย นอกจากนี้ยังเป็นอาจารย์หลักในการขับเคลื่อนให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ได้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน PSU English Test ซึ่งผลการดำเนินการที่ผ่านมีแนวโน้มที่นักศึกษาผ่านเกณฑ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ตลอดจนยังเป็นอาจารย์ที่มีการบูรณาการด้านการเรียนการสอนกับงานวิจัยและงานบริการวิชาการ โดยมีผลงานเชิงประจักษ์ในหลายโครงการ อาทิ เป็นหัวหน้าโครงการนำร่องการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ โดยได้สร้างความร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่เกาะลันตาน้อย ในการพัฒนาทักษะทางด้านภาษาต่างประเทศให้กับกลุ่มชาวบ้าน นักเรียนและครู ร่วมเป็นกรรมการคณะที่ปรึกษาด้านวิชาการชมรมครูผู้สอนภาษาอังกฤษ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 2 และมีการพัฒนาตนเองในด้านการเรียนการสอนอยู่เสมอ ทำให้ได้รับการรับรองมาตรฐานสมรรถนะอาจารย์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (PSU-TPSF) ระดับสามัตถิยาจารย์ เมื่อปี 2566 และยังได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณอาจารย์พี่เลี้ยงเพื่อขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอน โดยใช้กรอบมาตรฐานสมรรถนะอาจารย์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (PSU-TPSF) อีกทั้งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาภาษาอังกฤษ และเป็นที่ปรึกษาการทำผลงานวิจัยเพื่อการขอกำหนดตำแหน่งที่สูงขึ้น ให้กับบุคลากรสายอำนวยการของคณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ อีกด้วย
- รศ. ดร.วิษณุพงษ์ โพธิพิรุฬห์ อาจารย์ตัวอย่างดีเด่นด้านการวิจัยและนวัตกรรม สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
ปัจจุบัน รศ. ดร.วิษณุพงษ์ โพธิพิรุฬห์ เป็นอาจารย์สังกัดสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีผลงานวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่ในหัวข้อที่เกี่ยวกับภาวะผู้นำ พฤติกรรมในองค์กร การบริหารทรัพยากรมนุษย์ และการทุจริตคอร์รัปชันในหน่วยงานภาครัฐ ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ทั้งที่อยู่ในฐานข้อมูล Web of Science และ SCOPUS นอกจากนี้ ยังได้รับทุนสนับสนุนการทำวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภาค 9 อีกทั้งยังได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ เช่น รางวัล Best Article Award จากวารสารวิชาการที่อยู่ในฐานข้อมูล Web of Science (SSCI) Quartile 1 ทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ รางวัล Best Reviewer Award จาก 2 วารสารที่อยู่ในฐานข้อมูล SCOPUS และ Web of Science (SSCI) และรางวัล Best Conference Paper จาก Academy of Management (AoM) Conference (USA) รวมถึงยังทำหน้าที่ให้บริการทางวิชาการ โดยได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับทฤษฎีทางด้านการจัดการ ระเบียบวิธีวิจัย และการวิเคราะห์สถิติให้กับนักศึกษาระดับปริญญาเอกในหลายสถาบัน รวมทั้งการบรรยายเกี่ยวกับการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยและการเขียนโครงการวิจัยให้กับบุคลากร อาจารย์ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ทำหน้าที่เป็น coach ในการตีพิมพ์ผลงานวิจัยให้กับอาจารย์ต่างมหาวิทยาลัย และการบรรยายเกี่ยวกับการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยและการเขียนโครงการวิจัยให้กับบุคลากรอีกด้วย นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินตำแหน่งวิชาการให้กับหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงการประเมินตำรา/หนังสือและผลงานวิชาการ และยังปฏิบัติหน้าที่เป็น Reviewer ให้กับวารสารวิชาการระดับนานาชาติ (Web of Science) มากกว่า 30 ฉบับ
- ศ. ดร. นายแพทย์สุรศักดิ์ สังขทัต ณ อยุธยา อาจารย์ตัวอย่างดีเด่นด้านการวิจัยและนวัตกรรม สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
ปัจจุบัน ศ. ดร. นายแพทย์สุรศักดิ์ สังขทัต ณ อยุธยา เป็นอาจารย์สังกัดสาขาวิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สามารถสร้างงานวิจัยและเสริมสร้างความก้าวหน้าทางวิชาการที่มีคุณค่าสูงในวงวิชาการทางศัลยศาสตร์ มีผลงานที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการระดับนานาชาติ โดยมีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในฐานข้อมูล Scopus และ Web of Science ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวน 74 เรื่อง เป็น Corresponding Author/First Author จำนวน 36 เรื่อง และมี h-index เท่ากับ 17 เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและได้รับการยอมรับในวงวิชาการวิจัยสาขากุมารศัลยศาสตร์และชีวเวชศาสตร์ สามารถขอทุนวิจัยภายนอกทั้งในและต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง ได้รับเชิญเป็น Keynote speaker ในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ และเป็นวิทยากรในเวทีเสวนาระดับชาติ/นานาชาติ มาตลอดระยะเวลา 10 ปี รวมทั้งยังได้รับเชิญให้เป็นกองบรรณาธิการวารสารวิชาการที่เป็นที่ยอมรับหลายฉบับ นอกจากนั้น ยังเป็นผู้ที่มีความสามารถในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ และสร้างนวัตกรรมที่เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ โดยมีผลงานที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาและมีการซื้อจากบริษัทแล้ว และผลงานส่วนหนึ่งได้รับรางวัลทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ เช่น “อุปกรณ์ถ่างสำหรับการผ่าตัดพังผืดใต้ลิ้นในเด็ก PSURF-2” ได้รับรางวัลเหรียญทอง จากการประกวดและจัดแสดงผลงานในเวที “The 48th International Exhibition of Inventions Geneva” ได้ร่วมเป็นนักวิจัยในหลายโครงการที่ดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งในการวิจัยเรื่องมะเร็งในเด็ก และการวิจัยด้านชีวสารสนเทศ นอกจากนี้ ยังได้ทำงานร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพอีกหลายองค์กร ในตำแหน่งคณะกรรมการ อนุกรรมการต่าง ๆ ในระดับนานาชาติ ได้ร่วมทำงานกับองค์กรที่เป็นที่รู้จักและยอมรับ เช่น International Agency for Research on Cancer (IARC) ซึ่งเป็นหน่วยย่อยหนึ่งขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization (WHO) เป็นต้น
- ผศ. ดร.จารุวรรณ กฤตย์ประชา อาจารย์ตัวอย่างดีเด่นด้านบริการวิชาการ
ปัจจุบัน ผศ. ดร.จารุวรรณ กฤตย์ประชา ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารหลักสูตรพยาบาลศาสตร มหาบัณฑิต (นานาชาติ) และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางการศึกษาและการเรียนการสอนที่เป็นเลิศ ได้รับการยอมรับทั้งด้านคุณภาพทางวิชาการและการเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านต่าง ๆ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและความรับผิดชอบสูง ได้ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจในการทำงาน ทั้งการเรียนการสอน การบริการวิชาการ และการวิจัย โดยเฉพาะในด้านบริการวิชาการได้ใช้ความรู้ความสามารถ ริเริ่ม ร่วมพลัง และขยายผลของการทำงานเพื่อสร้างประโยชน์โดยตรงต่อชุมชนและผู้ใช้บริการในโครงการต่าง ๆ อย่างยั่งยืน เป็นผู้นำเครือข่ายสหวิชาชีพเพื่อสุขภาวะผู้สูงวัย ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ นักศึกษา คณะพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะการแพทย์แผนไทย และสาขาวิชากายภาพบำบัด ร่วมกับองค์กรต่างๆที่สำคัญ ได้พัฒนานวัตกรรมการดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร พัฒนาแอปพลิเคชัน C-CARE (Community Care) สำหรับผู้สูงอายุ ครอบครัว และบุคลากรสาธารณสุข ใช้ในการประเมินคัดกรองปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุและส่งเสริมสุขภาพ นอกจากนี้ยังได้ดำเนินโครงการ “เกลอกัน สานพลัง สุขภาพดี” เปลี่ยนผู้สูงอายุติดบ้านเป็นผู้สูงอายุติดสังคม ร่วมกับชุมชนในการสร้าง ออกแบบ ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเป็นผู้นำการจัดทำทรัพยากรการเรียนรู้ออนไลน์ระบบเปิดสำหรับมหาชน (Massive Open Online Course) ให้บุคลากรสาธารณสุข ผู้สนใจ นักศึกษา ได้เรียนรู้ เพิ่มพูนศักยภาพการดูแลด้านสุขภาพ และได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายวิชาการให้กับคณาจารย์ภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาสมรรถนะอาจารย์ด้านการเรียนการสอนตามกรอบมาตรฐานสมรรถนะอาจารย์ของประเทศไทย (Thailand-PSF) และต่างประเทศ (UKPSF)