ม.อ. ปัตตานี ขับเคลื่อน อววน. สู่การพัฒนาจังหวัดปัตตานี ตอบโจทย์ความต้องการพื้นที่เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การขับเคลื่อนงาน อววน. สู่การพัฒนาจังหวัดปัตตานี เพื่อมอบนโยบายด้านการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น พร้อมติดตามสถานะของผลการวิจัยและการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนรับฟังความต้องการและโจทย์วิจัยจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งมิติด้าน well-being และมิติด้าน ความขัดแย้ง ความรุนแรง และสันติภาพ โดยมีนางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย ผศ. ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว อว. ส่วนหน้าจังหวัดปัตตานี กล่าวสรุปการพัฒนาโครงการด้าน อววน. ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ตลอดจนคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ คณะนักวิจัยและภาคีเครือข่ายงานวิจัย ตัวแทนชุมชน ตัวแทนภาคประชาสังคม ร่วมให้การต้อนรับและเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมปริชญากร ชั้น 4 อาคารสำนักงานวิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567
ม.อ.ปัตตานี และ จังหวัดปัตตานี ทำงานร่วมกันในทุกด้านเพื่อพัฒนาจังหวัดปัตตานี ทั้งงานในพื้นที่ ระดับท้องถิ่น ท้องที่ ไปจนถึงการร่วมทำแผนพัฒนาจังหวัดปัตตานีด้วยศักยภาพของสถาบันการศึกษาที่มีอาจารย์ มีนักวิจัย มีองค์ความรู้ศาสตร์สาขาต่าง ๆ ผนวกกับการขับเคลื่อนอย่างเข้มแข็งของกลไกจังหวัดทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ การประชุมในครั้งนี้เป็นการนำเสนอผลงานที่เกิดจากการพัฒนาทั้งสองด้าน ทั้งด้านการส่งเสริมอาชีพ การสร้างรายได้บนฐานเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ที่ทั้งรักษาคุณค่าและสร้างมูลค่าให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการในพื้นที่
โอกาสนี้ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการ โครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำพื้นที่ภาคใต้ชายแดน สินค้าอัตลักษณ์ของจังหวัดปัตตานี ทุนการศึกษากองส่งเสริมและพัฒนากำลังคน (กสค.) ทุนการศึกษากองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กขค.) และโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) ม.อ.ปัตตานีและมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา นอกจากนั้นภายในงานยังมีเวทีเสวนา เรื่อง “มีทุน มีงาน” ภายใต้หัวข้อ แรงงานที่ต้องการ หรืออาชีพในอนาคตของจังหวัดปัตตานี และ แนะนำแหล่งทุนของ อว. ก่อนรับฟังข้อเสนอความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การศึกษาและคุณภาพชีวิต (สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมที่ต้องการแนวทางการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์) และฟังสรุปรับข้อเสนอความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การศึกษาและคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สำคัญตามนโยบายของกระทรวง อว. ในการให้สถาบันการศึกษามีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมเพื่อความเป็นเลิศและเพื่อความมั่นคงของชีวิตและเศรษฐกิจ ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ที่มีบริบทเฉพาะทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งการเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อให้การเกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาควิชาการ ภาคราชการ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน