ม.เกษตรศาสตร์ ศึกษาดูงาน ม.อ.ปัตตานี ชื่นชมเป็นองค์กรชั้นนำด้านการจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร
ผศ. ดร.วรภาคย์ ไมตรีพันธ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม วิทยาเขตปัตตานี ให้การต้อนรับ คณะผู้บริหาร บุคลากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในโอกาสเยือน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อศึกษาดูงานองค์กรแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ศึกษาการจัดการตามแนวทางความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการพัฒนาทางเศรษฐกิจชุมชนและท้องถิ่น เป็นการจัดการศึกษาที่พยายามเสนอแนวคิดค่านิยมเชิงบวก มุ่งให้เห็นคุณค่าในความแตกต่างของมนุษย์ และนำไปสู่การเรียนรู้และการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โดยมีผู้บริหาร และบุคลากร จำนวน 72 คน เข้าร่วม ณ สำนักงานวิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567
กิจกรรมประกอบด้วย การนำเสนอโครงการ “การพัฒนาและยกระดับการจัดการเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม: กรณีศึกษาพื้นที่จังหวัดปัตตานี” โดย ดร.ไอร์นี แอดะสง หัวหน้าศูนย์ประสานงานการวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการจังหวัดปัตตานี ม.อ.ปัตตานี และรับฟังการนำเสนอโครงการ “การขับเคลื่อนอุทยานวัฒนธรรมสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนา ชุมชนทุนทางวัฒนธรรมปัตตานี: Pattani Heritage City” โดย ผศ. บัญชา เตส่วน รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาเขตปัตตานี การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความร่วมมือและผลงานผลิตภัณฑ์สินค้าต่าง ๆ ซึ่งภายในงานมีผลิตภัณฑ์พัฒนางานวิจัยของชุมชนโดยนักวิจัย ม.อ.ปัตตานี จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ และ ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน PSU B-RU SHOP มานำเสนอและจัดจำหน่าย
นอกจากนี้ คณะผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังได้เดินทางชมเส้นทางวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี บ้านขุนพิทักษ์รายา บ้านเลขที่ 5 ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และชิมขนมพื้นถิ่น ณ บาราโหม บาร์ซาร์
ทั้งนี้ เส้นทางวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน โดยเป้าหมายหลักของโครงการ คือ การ ค้นหาทุนทางวัฒนธรรมในย่านเมืองเก่าปัตตานี การประสานกลไกเครือข่ายที่ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองปัตตานีด้วยฐานทุนทางวัฒนธรรม นอกจากนั้นแล้ว โครงการวิจัยฯ ยังจัดกิจกรรมหลากหลายเพื่อเสริมศักยภาพวิสาหกิจวัฒนธรรมและผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมในพื้นที่ รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางวัฒนธรรมจนก่อให้เกิดพื้นที่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ สนับสนุนให้เกิดการอนุรักษ์ ส่งต่อสืบทอด ทุนทางวัฒนธรรม และการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจบนฐานทุนทางวัฒนธรรม