ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ระบาดวิทยา สงขลานครินทร์ ผลงานโดดเด่น NIH มอบทุน 41 ล้านบาท ให้สร้างบุคลากรต่อสู้วัณโรค ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อเนื่องอีก 5 ปี




    นอกจากโควิด-19 แล้ววัณโรคนับเป็นโรคร้ายแรงที่สุดอย่างหนึ่งของโลก (Global Infectious Disease) ที่มนุษย์เผชิญมานับหมื่นปี

    สาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีผลงานโดดเด่น สามารถแข่งขันกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศสหรัฐอเมริกาจนได้ทุนจาก NIH หรือ National Institutes of Health ของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาให้สร้างนักวิจัยเพื่อการควบคุมวัณโรค ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ 



    ที่ผ่านมา หลักสูตรระบาดวิทยา ม.อ. ได้ทุนไปแล้ว 5 ปีต่อเนื่อง ระหว่าง พ.ศ. 2558-2563 เป็นเงินประมาณ 30 ล้านบาท ครั้งนี้ได้ต่ออีก 5 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2564-2569 เป็นเงินประมาณ 41 ล้านบาท 

NIH ได้คัดเลือกให้ทุน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อ 5 ปีที่แล้วเนื่องจากผลงานอันโดดเด่นของสาขาระบาดวิทยาที่ได้ผลิตบัณฑิตปริญญาโทและปริญญาเอกรวมกว่า 200 คน กลับไปทำงานใน 17 ประเทศในเอเซียและแอฟริกามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 และมีบริบทต่างๆ ที่เหมาะสม ในการพัฒนานักวิจัยเพื่อแก้ปัญหาวัณโรคของภูมิภาค 



    ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา NIH พอใจในผลงานของหลักสูตรซึ่งได้ผลิตนักศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอกทำวิทยานิพนธ์เรื่องวัณโรคจากประเทศไทย พม่า และอินโดนีเซีย รวม 16 คน มีผลงานวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการนานาชาติไปแล้ว 19 เรื่องและมีนักศึกษา 6 คน ได้ทุน จาก Union on Tuberculosis and Lung Diseases เดินทางไปนำเสนอผลงานวิจัยของตน ในการประชุมโรคปอดนานาชาติ 4 ครั้งที่ ลิเวอร์พูล (สหราชอาณาจักร) เม็กซิโกซิตี้ (เม็กซิโก) กรุงเฮก (เนเธอร์แลนด์) มะนิลา (ฟิลิปปินส์) และ เชนนาย (อินเดีย)



หัวหน้าโครงการนี้ คือ ศ. นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ผู้ก่อตั้งสาขาวิชาระบาดวิทยา ม.สงขลานครินทร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 รศ. ดร.อังคณา ฉายประเสริฐ และ ศ. นพ. ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ดร.พญ.เพชรวรรณ พึ่งรัศมี แพทย์ทรงคุณวุฒิด้านเวชกรรมป้องกัน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้มีผู้เชี่ยวชาญระบาดวิทยาวัณโรคจาก Methodist Hospital ที่ Houston, Texus สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ร่วมวิจัย



สถาบันที่ร่วมมือในประเทศเมียนมาร์ คือ กรมวิจัยการแพทย์ (Department of Medical Research) และ National TB Program 



สถาบันที่ร่วมมือในอินโดนีเซีย คือ
University of North Sumatra ที่ Medan,
Andalas University) ที่เมือง Padang
University of Riau ที่ Pekanbaru 
Syiah Kuala University ที่ Banda Aceh
และ National TB Program



ในช่วง 5 ปีข้างหน้า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ขยายการรับนักศึกษาไปยังภาคอื่นๆ ของประเทศอินโดนีเซีย ขยายบทบาทของศิษย์เก่าในประเทศนั้นๆ ให้สามารถเป็นที่พึ่งด้านการวิจัยวัณโรคได้ และจะขยายรูปแบบการทำวิจัยด้านวัณโรคโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น วิทยาการข้อมูล (Data Science) ศาสตร์ที่เกี่ยวกับการจัดการ จัดเก็บ รวบรวม ตรวจสอบ วิเคราะห์ วิจัย และนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปสู่ความรู้ที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง เพื่อทำให้การป้องกันโรคและการบำบัดรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น