‘พบค้างคาว 3 ชนิดครั้งแรกในเมียนมาร์’ ม.อ. ร่วมเครือข่ายนานาชาติ ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิต
นักวิจัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ เครือข่ายนานาชาติ ผลักดันมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศเมียนมาร์ โดยมีส่วนร่วมในการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เผย พบค้างคาว 3 ชนิดใหม่ และอีก 3 ชนิดที่มีการรายงานครั้งแรกในประเทศเมียนมาร์
ดร.พิพัฒน์ สร้อยสุข นักวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ไปมีส่วนร่วมสำคัญกับทาง UNESCO เมื่อปี 2016 ในการรวบรวมข้อมูลเพื่อช่วยผลักดันให้เกิดมรดกโลกทางธรรมชาติเป็นที่แรกของประเทศเมียนมาร์ โดยเข้าไปศึกษาค้างคาวในผืนป่าคาคาโบราซี รัฐคะฉิ่น เหนือสุดของประเทศเมียนมาร์ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีหิมะปกคลุมตลอดปี และมียอดเขาที่น่าจะจัดว่าสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ชี้ให้เห็นว่าเป็นพื้นที่โดดเด่นด้านความหลากหลายของค้างคาวในภูมิภาคนี้
จากการลงพื้นที่ศึกษาค้างคาวตลอดระยะเวลาเกือบ 2 เดือน (เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2016) พบค้างคาวทั้งหมด 36 ชนิด 17 สกุล 6 วงศ์ มี 3 ชนิดที่เป็นชนิดใหม่ ได้แก่ ค้างคาวจมูกหลอดคากาโบราซี่ (Murina hkakaboraiensis) ค้างคาวยอดกล้วยหลังดำ (Kerivoula furva) และค้างคาวจมูกหลอดอีกหนึ่งชนิดที่ยังไม่ได้ตั้งชื่อ เนื่องจากอยู่ระว่างการตรวจสอบเทียบเคียง ล่าสุดมีรายงานการพบค้างคาวที่ไม่เคยมีรายงานในประเทศเมียนมาร์มาก่อน 3 ชนิด ได้แก่ ค้างคาวขอบหูดำเหนือ (Megaerops niphanae) ค้างคาวจมูกหลอด (Murina pluvialis – ชนิดนี้ไม่พบในไทย) และค้างคาวฟันร่องใหญ่ (Phoniscus jagorii) ดังนั้น จากเดิมที่ประเทศเมียนมาร์ค้นพบค้างคาวทั้งหมด 97 ชนิด รวม 2 ชนิดใหม่ ที่ตั้งชื่อไปแล้ว และอีก 3 ชนิดที่ได้รับรายงานใหม่ รวมเป็น 102 ชนิด
ดร.พิพัฒน์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของค้างคาวในประเทศเมียนมาร์ โดยเฉพาะในพื้นที่ทางตอนเหนือสุดของประเทศ นั่นคือ รัฐคะฉิ่น เป็นการเติมเต็มข้อมูลความรู้ทางภูมิศาสตร์เกี่ยวกับความหลากหลายของค้างคาวในพม่า ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการศึกษาอย่างจริงจังมาก่อน มีรายงานค้างคาวในพื้นที่น้อยมาก ผืนป่าคาคาโบราซีเป็นดินแดนที่สวยงาม รุ่มรวยด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาษาและกลุ่มชาติพันธุ์ของคนพื้นเมือง แต่แทบเรียกได้ว่าเกือบจะถูกลืมทางการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ พบว่าเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของค้างคาวมาก ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญอีกพื้นที่หนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมควรอย่างยิ่งที่ต้องมีการบูรณาการร่วมกัน เพื่อปกป้องพื้นที่ รวมถึงศึกษาวิจัยต่อเนื่องในพื้นที่ คาดว่าน่าจะค้นพบสิ่งมีชีวิตใหม่อีกมากมายที่คนไม่รู้จักมาก่อน ปัจจุบันมีการบุกรุกทำลาย มีการเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่มากขึ้น ซึ่งอาจจะถูกทำลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรมหรือชุมชนมากกว่านี้ และก่อนที่ค้างคาวชนิดใหม่จะสูญพันธ์ไป จะต้องดำเนินการควบคู่กันทั้งการศึกษาและงานวิจัย ตลอดจนเรื่องการอนุรักษ์พื้นที่ก็ต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กัน และต้องบูรณาการร่วมกันกับคนในพื้นที่