ข่าวชาวสงขลานครินทร์

นักวิชาการ เชื่อมั่น วัคซีน SINOVAC มีประสิทธิผล ให้ภูเก็ตรบชนะ เพื่อเดินหน้าเศรษฐกิจ




    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข จัดสัมมนาออนไลน์ (webinar) เพื่อนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลของวัคซีนที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ผ่านเพจ PSUConnext จากการศึกษา ของ ผศ. ดร.ชยานนท์ ภู่เจริญ คณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต



    ข้อมูล ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 จังหวัดภูเก็ตมีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน 2 โดส จำนวน 93,341 ราย ผู้ที่ได้รับการฉีด 1 โดส มีจำนวน 125,586 ราย ลงทะเบียนรอรับวัคซีน 101,107 ราย

ประชากรในภูเก็ตร้อยละ 22 ได้รับวัคซีนแล้ว 2 เข็ม และร้อยละ 44 ได้รับวัคซีนแล้ว 1 เข็ม 

ผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ฉีด ประสิทธิผลของวัคซีน (vaccine efficacy) = 84 %

ผู้ที่ได้รับวัคซีน 1 เข็ม เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ฉีด ประสิทธิผลของวัคซีน (vaccine efficacy)= 37.07 %



    ศาสตราจารย์ นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ หน่วยระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำเสนอบทความเรื่อง “จังหวัดต่างๆ ควรเริ่มสำรวจประสิทธิผลของวัคซีนที่ฉีดไปได้แล้ว” และ ดร.ชยานนท์ ภู่เจริญ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา คณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ได้ดำเนินการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลของจังหวัดภูเก็ต เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการศึกษาข้อมูลประสิทธิผลของวัคซีนระดับจังหวัด รวมทั้ง เป็นต้นแบบให้นักวิชาการหรือหน่วยงานสาธารณสุขที่เข้าร่วมสัมมนาได้ทำการศึกษาข้อมูลในจังหวัดของตนเองต่อไป และเพื่อเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายแก่กระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดสัมมนาในครั้งนี้ขึ้น



    วิทยากรประกอบด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบเรื่องวัคซีนโควิด ผศ. ดร.ชยานนท์ ภู่เจริญ คณะการบริการและการท่องเที่ยว ม.อ. วิทยาเขตภูเก็ต นำเสนอข้อมูลและผลการวิเคราะห์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต พญ.ศุภลักษณ์ ละอองเพชร รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ร่วมนำเสนอ นพ.ทรงยศ ราชบริรักษ์ สาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. นพ.พลกฤต ขำวิชา สาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. ร่วมคัดเลือกคำถามจากผู้ลงทะเบียนร่วมสัมมนา และผู้ฟังทั่วไป



    ศาสตราจารย์ นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ สาขาระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินท์ กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยฉีดวัคซีนไปแล้วจำนวนหนึ่ง เกือบทั้งหมดเป็นวัคซีน Sinovac จากจีน การฉีดวัคซีนในประเทศไทยประสิทธิผลในการป้องกันก็อาจจะไม่เหมือนที่ประเทศอื่น เพราะเชื้อที่กำลังระบาดในแต่ละประเทศเป็นคนละสายพันธุ์ ส่วนอัตราการเสียชีวิตก็ยิ่งแตกต่างเพราะขึ้นกับว่าขณะนั้นระบาดมากน้อยแค่ไหน ตลอดจนประเทศที่ทดลองวัคซีนมีศักยภาพทางด้านการแพทย์และการพยาบาลเพียงใด 



    ในทางระบาดวิทยาภาคสนาม การวัดประสิทธิผลในการป้องกันมีสองวิธีหลักๆ คือ แบบสุ่มการทดลองในอาสาสมัคร ติดตามผู้ที่รับวัคซีนจริงและวัคซีนหลอก แล้วไปดูว่าอัตราการติดเชื้อต่างกันเท่าไร และวิธีที่สอง คือใช้ฐานการฉีดข้อมูลการฉีดวัคซีนของจังหวัด ดูฐานข้อมูลของคนติดเชื้อโควิด ตลอดจนการสอบสวนโรค ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ดูว่าในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ติดเชื้อกับไม่ติดเชื้อมีประวัติการรับวัคซีนต่างกันอย่างไร

    นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบเรื่องวัคซีนโควิด กล่าวว่า ขอบคุณทีมวิจัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และทีมงานจังหวัดภูเก็ตที่ศึกษาและทำงานอย่างเข้มแข็ง การฉีดวัคซีน จะทำให้ภูเก็ตเดินหน้าเศรษฐกิจไปได้อย่างเข้มแข็งตามนโยบายของรัฐบาล ดังผลที่ทีมงานได้ศึกษามา อย่างน่าพอใจ ผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ฉีด ประสิทธิผลของวัคซีน ถึง 84 % เข็มเดียว ประสิทธิผลของวัคซีน 37.07 % ดังนั้นคนที่ฉีดเข็มแรกแล้วต้องฉีดให้ครบทั้ง 2 เข็ม 



ผศ.ดร.ชยานนท์ ภู่เจริญ คณะการบริการและการท่องเที่ยว ม.อ. วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า ข้อมูล ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน 2 โดส มีจำนวน 93,341 ราย ผู้ที่ได้รับการฉีด 1 โดส มีจำนวน 125,586 ราย ลงทะเบียนรอรับวัคซีน 101,107 ราย พบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ฉีด ประสิทธิผลของวัคซีน (vaccine efficacy)= 84 % ผู้ที่ได้รับวัคซีน 1 เข็ม เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ฉีด  ประสิทธิผลของวัคซีน (vaccine efficacy)= 37.07 %

นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้การฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ดำเนินไปได้ 70% ของเป้าหมาย พยายามจะฉีดวัคซีนให้เสร็จภายใน 26 มิถุนายน 2564 หลังจากฉีดวัคซีนอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

พญ.ศุภลักษณ์ ละอองเพชร รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า ประชากรในภูเก็ตร้อยละ 22 ได้รับวัคซีน แล้ว 2 เข็ม และร้อยละ 44 ได้รับวัคซีนแล้ว 1 เข็ม เท่าที่พบเชื้อโควิด-19 เป็นสายพันธุ์อังกฤษ สำหรับผู้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แล้ว แต่ยังคงติดเชื้อมีจำนวนน้อยมาก และอาการแทรกซ้อนน้อย ไม่มีผู้มีภาวะปอดบวม



นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตถือว่าได้รับวัคซีนมากที่สุดในประเทศในขณะนี้ สำหรับเชียงใหม่ผู้ติดเชื้อที่มีความเสี่ยงสูง เป็นกลุ่มวัยรุ่น ติดจากการไปเที่ยวผับ

ดร.นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า รูปแบบการศึกษาของภูเก็ตนี้เป็นตัวอย่างที่ดี จะได้มีงานวิจัยออกมาเรื่อยๆ ที่ให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูล 

    ศาสตราจารย์ นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ กล่าวสรุปว่า การฉีดวัคซีน SINOVAC ที่ภูเก็ต ครบ 2 เข็มมีผลดีมากในการป้องกันโรค ส่วนการฉีดเข็มเดียวได้ผลน้อยมาก ควรให้ทุกคน ฉีดครบ 2 เข็ม ทั่วประเทศ

รับชมการสัมมนาออนไลน์ย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/psuconnext/videos/509061830538698