"/> มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ข่าวชาวสงขลานครินทร์

"นโยบายสาธารณะ" กลไกหนึ่งที่ ม.อ. ใช้เสริมความมั่นคงด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ของชาวใต้




    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กำหนดแนวภารกิจด้านนโยบายสาธารณะ ที่หมายถึงทิศทางหรือแนวทางที่สังคมโดยส่วนรวมเห็นพ้องว่าควรจะดำเนินการไปในทิศทางนั้น เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมภายใต้พื้นฐานแห่งศีลธรรมและความสมดุลทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและของภาคใต้ รวมทั้งให้สอดคล้องกับขีดความสามารถของมหาวิทยาลัย ที่มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและพื้นที่ภาคใต้ โดยมี “สถาบันนโยบายสาธารณะ” เป็นกลไกประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การพัฒนาและการแก้ปัญหา



    ในช่วงเวลาที่ผ่านมา “สถาบันนโยบายสาธารณะ” ได้มุ่งเป้าหมายเพื่อการร่วมกับเครือข่ายในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในภาคใต้อย่างเป็นระบบเพื่อเป็นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีผลการดำเนินงานตามภารกิจ ทั้งด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเปิดสอน หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต วทม.(การจัดการระบบสุขภาพ) ในวิชาเอกการจัดการระบบสุขภาพ การประเมินผลกระทบสุขภาพ และนโยบายสาธารณะ ซึ่งมีบัณฑิตสำเร็จการศึกษาไปแล้ว 76 คน เปิดการพัฒนาและฝึกอบรม ให้แก่เครือข่ายชุมชนทั้งด้านการพัฒนาศักยภาพการทำงานตามวิชาชีพ การจัดทำแผนโครงการ หลักสูตรเสริมสร้างสมรรถนะ ด้านการป้องกันการติดเชื้อและ การดูแลจิตใจ โครงการพัฒนาศักยภาพกลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ระบบอาหารเพื่อสุขภาพประชาชน งานสร้างเสริมสุขภาวะและพัฒนา กลไกสุขภาวะระดับพื้นที่ โดยตั้งแต่เริ่มดำเนินการเมื่อปี พ.ศ.2552 จนปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมอบรมรวม 21,1136 คน



    มีการประสานงานสร้างเครือข่ายนักวิจัยและนักวิชาการ การนำผลงานวิจัยและผลงานวิชาการไปใช้ประโยชน์ ทั้งด้านการแพทย์พหุวัฒนธรรม การเพิ่มกิจกรรมทางกาย ด้านระบบอาหารและการคุ้มครองผู้บริโภค การร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ การจัดการปัจจัยเสี่ยง การขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะและพัฒนากลไกสุขภาวะระดับพื้นที่ นอกจากนั้นยังร่วมผลักดันการขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสาธารณะทั้งในระดับชาติ ระดับภาคใต้ ระดับองค์กร หน่วยงาน และระดับจังหวัด



    ในอนาคตอันใกล้ระหว่างปี พ.ศ.2564-2566 “สถาบันนโยบายสาธารณะ” จะเน้นการให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายในทุกระดับทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน ประชาชนและภาคประชาสังคม การจัดการความรู้งานวิจัยและนําองค์ความรู้ข้อมูลเชิงวิชาการที่เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ และการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งจะนําไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยแบ่งประเด็นยุทธศาสตร์ที่จะดําเนินงานออกเป็น 4 ประเด็น คือ 1. ด้านความมั่นคงทางอาหารในระดับครัวเรือนและชุมชน เพื่อการเข้าถึงอาหารปลอดภัย มีโภชนาการที่ดีลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ 2. ด้านความมั่นคงทางมนุษย์เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพและให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น 3. ด้านความมั่นคงทางทรัพยากร โดยจัดทํายุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชน การจัดการภัยพิบัติ การอนุรักษ์ฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 4. ด้านความมั่นคงทางสุขภาพ เพื่อสร้างสุขภาวะในสังคมพหุวัฒนธรรมโดยกลไกที่มาจากภาครัฐภาคประชาชนและนักวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทั้ง 4 ประเด็นจะบูรณาการการดําเนินการร่วมกับการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตร ระดับปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการระบบสุขภาพ



    การขยายตัวตลอด 12 ปีของ “สถาบันนโยบายสาธารณะ” หรือ เดิมคือ “สถาบันการจัดการระบบสุขภาพ (สจรส.)” มาจากการเป็นหน่วยงานที่มีความร่วมมือและประสานงานอย่างดีกับสังคม ชุมชนและองค์กรต่างๆ มีบุคลากรมีความสามารถได้รับความเชื่อถือ เป็นเสนาธิการทางวิชาการให้กับฝ่ายปกครอง และในการประชุมสภามหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ได้มีข้อเสนอแนะว่า เพื่อคุณภาพที่มากขึ้นต้องมีการกำหนดดัชนีชี้วัดเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาให้เห็นผลชัดเจน มีการเลือกคู่ความร่วมมือที่น่าสนใจ ซึ่งถ้าคู่ความร่วมมือมีแหล่งทุนด้วยก็จะลดภาระเรื่องการหางบประมาณไปด้วย อย่างไรก็ตามการกำหนดแนวทางในการพัฒนาของประเทศมาจากนโยบายในระดับชาติ ซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย การทำงานของหน่วยงานจึงต้องมีความยืดหยุ่น มีการเน้นการดำเนินงานที่เป็นการเชื่อมโยงให้เกิดผลงานที่มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น โดยมหาวิทยาลัยควรสร้างกลไกให้คณะและหน่วยงานภายในเข้ามาร่วมช่วยในการทำงานเพื่อร่วมสร้างความสำเร็จให้หน่วยงานแห่งนี้