ข่าวชาวสงขลานครินทร์

นักวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. ชี้ PM 2.5 ในภาคใต้ มาจากตอนเหนือของประเทศ ไม่ใช่ฝุ่นควันอินโดฯ




    ผศ. ดร. เฮลมุท ดูราส อาจารย์ประจำหลักสูตรฟิสิกส์ สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. ได้ติดตามภาพถ่ายดาวเทียมจากกรณีภาวะหมอกควันที่เกิดจากเกษตรกรรมและไฟป่าซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดหมอกควันในประเทศไทยและภูมิภาคต่างๆ พบว่าสถานการณ์หมอกควัน PM2.5 ในภาคใต้ของประเทศไทยในปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากการเผาพื้นที่เกษตรกรรมและป่าไม้ในภาคเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม และ พม่า



    ซึ่งหากเป็นหมอกควันจากอินโดนีเซีย จะเกิดขึ้นได้จากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เท่านั้น แต่ ณ ปัจจุบันยังไม่มีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ภาพถ่ายดาวเทียมเผยให้เห็นว่าหมอกควันปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอ่าวเบงกอลและอ่าวไทย ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ ลมไม่พัดแรง คาดว่าในพื้นที่ภาคใต้ยังคงได้รับหมอกควันอีกระยะหนึ่ง ซึ่งบางสำนักข่าวได้มีการเผยแพร่ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์หมอกควันใน อ.เบตง จ.ยะลา ว่าเกิดจากอินโดนีเซียซึ่งไม่เป็นความจริง 



    ทั้งนี้ ผศ. ดร. เฮลมุท ดูราส ให้ความเห็นว่า “สถานการณ์หมอกควัน PM 2.5 จะดำเนินต่อไปจนกว่าลมและฝนจะเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จะทำให้มีลมแรงขึ้นและฝนตกเล็กน้อย แนะนำให้ประชาชนงดกิจกรรมที่ทำให้เกิด PM 2.5 เช่น การเผาเศษวัสดุการเกษตร วัสดุป่าไม้ ขยะในที่โล่งแจ้ง ตลอดจนให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อความปลอดภัยจาก PM 2.5 และ COVID-19

    ติดตามสภาพอากาศทาง https://www.iqair.com/th/thailand และสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ได้ที่ ศูนย์วิจัยมลพิษทางอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ http://airthai.in.th/th/