ข่าวชาวสงขลานครินทร์

ปริญญากิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำปีการศึกษา 2564




    สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติปริญญากิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2566 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี จะเสด็จแทนพระองค์ พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2564 จำนวน 8,207 คน โดยมีรายนามผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ ดังนี้



1. ดร.รอยล จิตรดอน วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์

    ดร.รอยล จิตรดอน เป็นผู้มีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ในด้านการนำเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นสูงมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ ทำให้ชุมชนมีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภค บริโภค และสำหรับพื้นที่เกษตรสามารถเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี ช่วยให้ชุมชนสามารถรอดพ้นจากปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นผู้บุกเบิกการก่อตั้งสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พัฒนาระบบเครือข่ายเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย ในพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ โครงการศึกษาวิจัยเรื่อง “การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชน” จนพัฒนาเป็น “คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ”



2. นายแพทย์อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล แพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
 
    นายแพทย์อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล เป็นผู้ริเริ่มสร้างความเข้าใจและเรียนรู้การใช้กระบวนการพัฒนาคุณภาพภายใต้กรอบแนวคิด Hospital Accreditation (HA) ในการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลทั่วประเทศ ได้ชี้นำและส่งเสริมโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ให้เข้าร่วมกับสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ในการเป็นโรงพยาบาลนำร่องที่ขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยเครื่องมือ HA ของประเทศไทย จนโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ผ่านการรับรองกระบวนการคุณภาพ ทำให้เป็นที่รู้จักและสร้างความภาคภูมิใจให้กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์



3. นางสาวปราณปริยา วงค์ษา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการสิ่งแวดล้อม

นางสาวปราณปริยา วงค์ษา ปัจจุบันทำงาน ณ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA ได้ให้ความสำคัญกับการผลักดัน ขับเคลื่อน ส่งเสริม พัฒนาและยกระดับคุณภาพคนด้วยองค์ความรู้วิทยาการสมัยใหม่ เพื่อให้รู้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงบริบทที่รวดเร็วด้านต่างๆ โดยการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาเป็นเครื่องมือประยุกต์ใช้บริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเรียนรู้ทุกช่วงวัย ยกระดับทักษะแห่งอนาคต รวมทั้งปรับเปลี่ยนทักษะเดิม (Reskill) และเตรียมทักษะใหม่ (New Skill) ผ่าน Lifelong Learning รูปแบบ Knowledge Ecosystem นอกจากนี้ ยังได้ให้ความสำคัญในการสร้างทีมและเชื่อมโยงร่วมกับ 7 มหาวิทยาลัย โดยดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติ ประกอบด้วยการวิจัยพัฒนานวัตกรรม การบริการวิชาการและให้คำปรึกษา การผลิตกำลังคนและการบริหารจัดการ 



4. Prof. Dr.Branislav A. Borovac วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล

ศาสตราจารย์ ดร.บรานิสลาฟ โบโรวัซ ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติคุณด้านวิทยาการหุ่นยนต์ ที่คณะวิทยาศาสตร์เทคนิค มหาวิทยาลัยโนวีซาด ประเทศเซอร์เบีย มีความเชี่ยวชาญในงานสอน และงานวิจัยด้านการสร้างแบบจำลองและการควบคุมหุ่นยนต์ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม การรวมข้อมูลเซนเซอร์ เมคคาทรอนิกส์ หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ และการเคลื่อนไหวแบบสองเท้า เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและบรรณาธิการให้กับวารสารวิชาการระดับนานาชาติ มีผลงานถูกอ้างอิงกว่า 5,500 ครั้งในฐานข้อมูลกูเกิลสกอลาร์ อีกทั้งยังเป็นนักวิจัยและศาสตราจารย์รับเชิญให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลก รวมทั้งยังเป็นคณะทำงานกลุ่มริเริ่มที่สร้างความร่วมมือด้านการศึกษาและวิจัยระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยโนวีซาด ประเทศเซอร์เบีย ซึ่งทำให้เกิดกิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการหลายอย่างเกิดขึ้น