ข่าวชาวสงขลานครินทร์

งานวิจัย ม.อ. รับรางวัล “ผลงานวิจัยดีเด่น” ภายใต้กรอบการวิจัย “มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่”




    ผลงานโครงการนครหาดใหญ่บนฐานทุนวัฒนธรรมตามอัตลักษณ์ของชุมชน ระยะที่ 2 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และ โครงการวงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี (Pattani Heritage City) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ภายใต้การสนับสนุนทุนโครงการวิจัยภายใต้กรอบการวิจัย “มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่” ปีงบประมาณ 2564 จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้รับรางวัล “ผลงานวิจัยดีเด่น” ในงานมหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง ณ ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา โดยมี ผศ. ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ และ ผศ. ดร.อัตชัย เอื้ออนันตสันต์ รักษาการแทนรองอธิการบดีวิทยาเขตปัตตานี เข้ารับรางวัล 



    สำหรับโครงการวิจัยที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาจำนวน 7 รางวัล ประกอบด้วย ผลงานวิจัยระดับดีเด่น 5 รางวัล ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และผลงานวิจัยระดับดี 2 รางวัล ได้แก่ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี





    โครงการนครหาดใหญ่บนฐานทุนวัฒนธรรมตามอัตลักษณ์ของชุมชน ดำเนินการศึกษาโดยทีมวิจัย ได้แก่ ผศ. ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ ดร.สิริวิท อิสโร อ.ดวงธิดา พัฒโน อ.ณัฐกานต์ รัตนพันธุ์ ผศ. ดร.ฆายนีย์ ช. บุญพันธ์ ดร.รุชดี บิลหมัด ดร.วิทวัส เหมทานนท์ อ.ลภัสวัฒน์ ศุภผลกุลนันทร์ และนายกฤดิ วรรณไชย ร่วมบูรณาการศาสตร์ ลงพื้นที่สอบถาม และสร้างความร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่ใจกลางนครหาดใหญ่ 4 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนกิมหยงสันติสุข ชุมชนพระเสน่หามนตรี ชุมชนแสงศรี และ ชุมชนท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง ค้นพบว่าหาดใหญ่มีทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถใช้เป็นจุดขาย และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ โดยผลการศึกษา พบว่าหาดใหญ่มีทุนทางวัฒนธรรมสำคัญ 4 ส่วน ภายใต้แนวคิดหาดใหญ่เมืองมงคล ได้แก่ อาหารมงคล (Auspicious Food) มงคลแห่งศรัทธา (Auspicious Faith) เทศกาลมงคล (Auspicious Festivals) และ วิถีชีวิตมงคล (Auspicious Lifestyle)






    โครงการ “การจัดการพื้นที่และทุนทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างเสริมศักยภาพผู้ประกอบการและวิสาหกิจวัฒนธรรม: การขยายพื้นที่และต่อยอดโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรม จังหวัดปัตตานี” หรือที่รู้จักกันในนามโครงการ Pattani Heritage City ดำเนินการวิจัยโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นการนำคุณค่าของต้นทุนทางภูมิประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และภูมิปัญญาภายในท้องถิ่นปัตตานีมาสร้างสรรค์ให้เกิดเอกลักษณ์ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งร่วมมือกับภาคีต่างๆ ในการพัฒนาเมืองปัตตานี ผลลัพธ์เด่นชัดของโครงการคือการพัฒนาพื้นที่ในเขตเมืองเก่าปัตตานีให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยววิถีพหุวัฒนธรรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการวัฒนธรรมในด้านต่างๆ เพื่อให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มจากสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม นักวิจัยหลักในโครงการ ประกอบด้วย ผศ. ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว ผศ. ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล ผศ. ดร.พรปวีณ์ พุ่มเกิด ผศ. ดร.นภดล ทิพยรัตน์ ผศ. ดร.ฮัมเดีย มูดอ ดร.มูฮำหมัดสูใฮมี ยานยา ผศ. ดร.มนทิรา ลีลาเกรียงศักดิ์ ดร.ชนกิตติ์ ธนะสุข นางสาวนราวดี โลหะจินดา นางสาวจิดาพร แสงนิล และนางสาวทัศนีย์ ฤกษ์สโมสร